จิตรกรรมพุทธโฆษาจารย์ “จับพ่อขัง” หนึ่งเดียวที่วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

จิตรกรรมพุทธโฆษาจารย์ “จับพ่อขัง” หนึ่งเดียวที่วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

จิตรกรรมพุทธโฆษาจารย์ “จับพ่อขัง” หนึ่งเดียวที่วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา 

           “พระพุทธโฆษาจารย์” (โฆสาจารย์) คือพระเถระในตำนานในพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งต่อมาชื่อนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นราชทินนามของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของไทยสืบมาถึงปัจจุบัน เล่ากันว่าท่านเป็นชาวอินเดีย เป็นปราชญ์ที่รอบรู้ แตกฉานเรื่องคัมภีร์ เป็นผู้แต่งคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ครั้งหนึ่งท่านได้เดินทางจากอินเดียไปยังลังกา เพื่อแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายฉบับ เช่น คัมภีร์วังสมาลินี พุทธโฆสนิทาน ได้เล่ารายละเอียดของการเดินทางไปลังกาไว้ว่า ท่านได้เดินทางโดยเรือ ระหว่างทางได้พบกับพระพุทธทัตตะ ซึ่งล่องเรือกลับจากลังกาสวนทางมา เมื่อถึงลังกา ท่านได้พบกับหญิงรับใช้ทะเลากันที่ท่าน้ำ โดยในระหว่างที่พำนักอยู่ที่ลังกา ท่านได้จำวัดอยู่ที่โลหปราสาท 7 ชั้น

          นอกจากนี้ยังเล่าว่า ก่อนการเดินทางไปลังกา พระพุทธโฆษาจารย์ได้เทศนาธรรมโปรดบิดาของท่านเพื่อให้หันมาเลื่อมใสพุทธศาสนา โดยออกอุบายเชิญมาที่ห้องที่สร้างขึ้นใหม่ แล้วปิดประตูขังไว้ 3 วัน ในระหว่างนั้นได้เทศนาธรรม กระทั่งยอมรับนับถือพุทธศาสนา

          รุจาภา ประวงษ์ อธิบายไว้ในงานวิจัยว่า เรื่องประวัติพระพุทธโฆษาจารย์หรือโฆสนิทานดังกล่าวนี้ ไทยน่าจะได้รับคติมาพร้อมกับการแพร่เข้ามาของคติลังกาวงศ์ โดยพบว่าได้มีการนำเรื่องนี้มาถ่ายทอดเป็นงานศิลปกรรมปรากฏอยู่ในสมุดภาพแผนที่ไตรภูมิ รวมทั้งยังปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งด้วย

          ตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังแห่งสำคัญ คือ จิตรกรรมที่ตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบอายุสมัยที่แน่ชัด จิตรกรรมตอนนี้ถูกวาดอยู่ผนังด้านหนึ่ง โดยภาพที่หลงเหลืออยู่เป็นภาพพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ในเรือสำเภา โดยมีเรือของพระพุทธทัตตะอยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องการพบกันกลางทะเลของทั้งสองท่าน อีกภาพหนึ่งคือภาพตอนพระพุทธโฆษาจารย์ขังบิดาไว้ในกุฏิ 2 ชั้น เพื่อเทศนาโปรดให้หันมานับถือพุทธศาสนา โดยมีภาพพระพุทธโฆษาจารย์ถือตาลปัตรกำลังแสดงธรรมโปรดบิดา ซึ่งในภาพแต่งกายคล้ายพราหมณ์ สำหรับภาพตอนนี้ ปัจจุบันพบหลงเหลืออยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ภาพกุฏิ 2 ชั้นนี้ ผู้วิจัยเสนอว่ามีรูปร่างคล้ายกับรูปทรงของตำหนักพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งจิตรกรรมแห่งนี้

          จิตรกรรมเรื่องนี้ ปรากฏแพร่หลายในรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3-4 เช่นที่ วัดดาวดึงษาราม วัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพ วัดมหาสมณาราม เพชรบุรี

อ่านรายละเอียดได้ใน การตีความภาพเล่าเรื่องพระพุทธโฆสาจารย์เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดย รุจาภา ประวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร 2552 และ ศรัณย์ ทองปาน “พุทธโฆสนิทานหรือตำนานพระสงฆ์ไปลังกา”, เมืองโบราณ 24,1 (มกราคม – มีนาคม 2541) 98-114.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้