"เมืองมืด" ในจิตรกรรมขรัวอินโข่งวัดบรมนิวาส คือ "ออสเตรเลีย-แทสมาเนีย”
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมในโบสถ์วัดบรมนิวาส เป็นภาพที่เขียนขึ้นในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ฝีมือขรัวอินโข่ง ภายใต้การกำกับของพระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ 4) ภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในรูปแบบและฉากแบบตะวันตก โดยอุปมาสิ่งต่างๆ ในภาพเข้ากับพระรัตนตรัย
ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพตอน “เมืองมืด” บนผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน แสดงภาพเมืองในชนบทเมืองหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศมืดทึบ มีรูปบุคคลทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ทำเกษตรกรรม ขนสัมภาระ มีรถม้า อูฐ รูปบุคคลแต่งกายทหารแบบตะวันตก และรูปบุคคลคล้ายชนเผ่า ไม่สวมเสื้อ โดยจารึกใต้ภาพนี้อธิบายว่า เมืองแห่งนี้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์นานาชนิด และมีมหาสมุทรล้อมทุกด้าน ผู้คนไม่สามารถออกไปได้
หนังสือถอดรหัสภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส เคยเสนอว่า ภาพนี้อาจต้องการสื่อถึงเมืองในดินแดนตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาล่าสุดพบว่า ภาพนี้น่าจะสื่อถึง “เกาะออสเตรเลีย” หรือ “เกาะแทสมาเนีย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ติดกับออสเตรเลีย เกาะที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีความหลากหลายทางนิเวศวิทยา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เกาะทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และที่สำคัญคือถูกใช้เป็นพื้นที่กักกันนักโทษ (Penal colony) โดยนักโทษเหล่านี้จะต้องทำงานต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของจารึกอธิบายภาพ
ดังนั้นภาพบุคคลที่กำลังทำกิจวัตรต่างๆ ในภาพ จึงน่าจะหมายถึงเหล่านักโทษที่ถูกส่งมากักกันที่เกาะแห่งนี้ ภายใต้การควบคุมของทหารอังกฤษ โดยอยู่อาศัยร่วมกับชนเผ่าอะบอริจิน ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ดังปรากฏภาพในจิตรกรรม ที่น่าสนใจคือ ภาพอูฐที่ปรากฏในจิตรกรรมนั้น น่าจะหมายถึงอูฐที่ถูกนำเข้าไปยังออสเตรเลียและเกาะแทสมาเนียตั้งแต่ ค.ศ.1840 เป็นต้นมา เพื่อใช้เป็นพาหนะช่วยขนสัมภาระหรือใช้เป็นพาหนะเดินทางสำรวจพื้นที่บุกเบิกห่างไกลในออสเตรเลียและแทสมาเนีย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความอดทนและสมบุกสมบัน อูฐเหล่านี้ต่อมาแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นอูฐป่าของออสเตรเลียในปัจจุบัน