“สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” สมัยรัชกาลที่ ๖ ที่สวนลุมพินี งาน“ภาพลักษณ์”
สวนลุมพินี สวนสาธารณะใหญ่กลางกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันดีนี้ เดิมในสมัยรัชกาลที่ ๖ เคยเป็นสถานที่เตรียมการจัดงานใหญ่ของประเทศงานหนึ่งคือ งาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ซึ่งก็คืองานนิทรรศการขนาดใหญ่ หรือคล้ายๆ กับ“งานเอ็กซ์โป” ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง แต่ทว่าต่อมาการเตรียมงานได้ถูกล้มเลิกลง หลังจากเสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน
งานครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริให้จัดขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายประการในรัชสมัยของพระองค์ เช่น การเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ การขัดแย้งในการบริหารราชการแผ่นดินในกลุ่มเจ้านาย รวมถึงยังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จนทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศทรุดหนักจนเกือบอยู่ในภาวะล้มละลาย ส่งผลให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างมาก
โดยต่อมา หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่นาน ประจวบเหมาะกับวโรกาสครบรอบเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ ๑๕ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริจัดงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ในปลายปี พ.ศ.๒๔๖๘ ขึ้น ณ บริเวณพื้นที่โล่งชานเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมากลายเป็นสวนลุมพินี ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากหลายฝ่าย ด้วยเกรงว่าจะต้องใช้งบประมาณในการจัดงานมาก ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางการเงินอยู่
ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “นิทรรศการในสยาม ระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๕ – ๒๔๗๕” ว่า จากการศึกษาโครงร่างเนื้อหาที่เตรียมจะนำมาใช้จัดงานครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่างานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ มีแรงจูงใจมาจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่ในเวลานั้น จนทำให้ภาพลักษณ์ด้านต่างๆ ตกต่ำลงอย่างมาก งานครั้งนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาทางหนึ่ง ตาม “โมเดล” แบบตะวันตกที่กำลังนิยมจัดขึ้น โดยคาดหวังว่าผู้ที่ได้เข้าชมงาน เมื่อได้รับ “สาร”ที่จัดแสดงอยู่ในงานนี้แล้ว ก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลให้ดูดีขึ้นได้
นอกจากนี้เนื้อหาของการจัดงานยังดำเนินรอยตามอุดมการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” อย่างชัดเจน