ถ้ำประตูมังกร เมืองลั่วหยาง
“วัดถ้ำ” ๑,๐๐๐ ปี ๒,๓๐๐ คูหา พระพุทธรูป ๑๐๐,๐๐๐ องค์
ร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ บนเส้นทางสายไหม
ที่ตั้ง: มณฑลเหอหนาน ห่างจากตัวเมืองลั่วหยางลงมาทางใต้ประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร ทำเลที่ตั้งถือว่าเป็นภูมิประเทศที่ดีมาก ประกอบไปด้วยภูเขาเซียงซานทางด้านตะวันออก และภูเขาหลงเหมินทางด้านตะวันตก ตรงกลางระหว่างภูเขามีแม่น้ำอี้ไหลผ่าน
ลักษณะ: ถ้ำประตูมังกร หรือในภาษาจีนเรียกว่า หลงเหมินสือคู (Longmen Grottoes) เป็นกลุ่มถ้ำและคูหาสลักขึ้นตามหน้าผา เป็นระยะทางยาวประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ข้อมูลจาก Longmen Caves Research Institute ระบุว่ามีถ้ำและคูหา ๒,๓๔๕ แห่ง จารึกที่ผนังถ้ำ ๒,๘๐๐ ประโยค พระพุทธรูปนับแสนองค์ มีขนาดตั้งแต่ ๒ เซนติเมตร จนถึง ๑๗.๑๔ เมตร โบราณสถานแห่งนี้มีความสำคัญ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓
ความเป็นมา: ถ้ำและคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปเหล่านี้ เป็นศูนย์รวมทางศาสนาของอดีตเมืองหลวงที่ชื่อว่า “ลั่วหยาง” เริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์เสี้ยวเหวินตี้ แห่งราชวงศ์เว่ย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และนับจากนั้นก็มีการสลักถ้ำและคูหารวมทั้งจารึก เป็นเวลานานต่อเนื่องกันนานนับ ๔๐๐ ปี โดยแบ่งเป็นผลงานการสร้างในสมัยราชวงศ์เว่ย ๓๐% และสมัยราชวงศ์ถัง ๖๐% โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระนางบูเช็คเทียน ซึ่งครองบัลลังก์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ แม้จะเป็นยุคสุดท้ายที่มีการสร้างงานพุทธศิลป์ที่นี่ แต่พระนางก็ได้อุปถัมภ์การสร้างงานชิ้นใหญ่ที่สุด ณ บริเวณที่เรียกว่า “วัดเฟิ่งเซียน” ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุด คือมีขนาด ๓๐ x ๓๐ เมตร ใช้เวลาในการสร้าง ๔ ปี สลักเป็นภาพพระไวโรจนะ ซึ่งเล่าลือกันว่าเค้าพระพักตร์ของพระพุทธรูป ก็คือพระพักตร์ของพระนางนั่นเอง พระพุทธรูปองค์นี้มีความสูง ๑๗.๑๔ เมตร และยังมีพระโพธิสัตว์ที่สูง ๑๓.๒๕ เมตร และ ๑๐.๕ เมตร อยู่ทางด้านข้างอีกด้วย ปัจจุบันวัดเฟิ่งเซียนแห่งนี้ได้รับการจัดให้เป็น “ไฮไลท์” ของกลุ่มถ้ำทั้งหมด
ความสำคัญ: วัดถ้ำแห่งนี้ถือเป็นแหล่งโบราณสถานที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาระหว่างจีนและอินเดีย ผ่านมาเข้ามาทางการค้า หรือ “เส้นทางสายไหม” อย่างชัดเจน
เนื่องจากธรรมเนียมการสร้างหรือสลักถ้ำเพื่อเป็นพุทธสถานนั้น เริ่มต้นขึ้นในอินเดียก่อน เช่น ถ้ำอชันตา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงและน่าจะเป็นต้นแบบให้กับวัดถ้ำแห่งอื่นๆ ทั่วภูมิภาคบนเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมระหว่างจีน เอเชียกลาง ผ่านเข้าไปยังภาคเหนือของอินเดีย ก็มีศาสนสถานประเภทถ้ำที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แห่งหนึ่ง คือ “บามิยัน” ในอัฟกานิสถาน ที่ถือเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในเอเชียกลาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๕ ที่นี่มีการขุดถ้ำขึ้นกว่า ๒๐,๐๐๐ ถ้ำ ภายในประดับด้วยจิตรกรรมและพระพุทธรูป พระถังซัมจั๋ง ภิกษุชื่อก้องของจีนก็เคยเดินทางผ่านมายังศาสนสถานแห่งนี้เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และได้บันทึกถึงพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เอาไว้ด้วย (ปัจจุบันกลุ่มตอลีบันได้ทำลายไปหมดแล้ว)
สำหรับวัดถ้ำประตูมังกรซึ่งได้รับการอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้กลายเป็นศาสนสถานที่รวบรวมพุทธศิลป์สมัยต่างๆ ของจีนเอาไว้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมรูปแบบตัวอักษรที่ปรากฏบนผนังถ้ำ ซึ่งมีอย่างหลากหลายเอาไว้ด้วย