เที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ โตเกียว
พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ และใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดของเอเชีย มีพิพิธภัณฑ์ใหญ่น้อยกระจายอยู่ทั่วประเทศนับ ๑,๐๐๐ แห่ง แต่ที่ถือว่ายิ่งใหญ่และสำคัญระดับชาติ ก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นนั่นเอง
ประเทศญี่ปุ่นเริ่มดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยผู้ที่บทบาทมากที่สุดคือ Machida Hisanari ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ หลังจากที่เขาได้มีโอกาสไปดูงานพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในต่างประเทศ ก็ได้กลับมาดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว (Tokyo National Museum) และได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นคนแรก
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.๑๘๗๒ วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งของการจัดแสดง ก็คือการเตรียมความพร้อมสำหรับการแนะนำประเทศญี่ปุ่นให้ชาวโลกรู้จัก ในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติซึ่งจัดขึ้นในต่างประเทศ
การเตรียมงานครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดให้มีการสำรวจงานศิลปะชิ้นเด่นของประเทศ แต่ก็นำมาร่วมจัดแสดงไม่มากนัก เพราะในขณะนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการ “โชว์” ความทันสมัยและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การรวบรวมงานศิลปะและโบราณวัตถุของประเทศ ก็ยังดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา โดยใน ค.ศ.๑๘๗๗ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มจัดซื้อโบราณวัตถุอย่างจริงจัง และหลังจาก ค.ศ.๑๙๓๖ เรื่อยมา ก็เริ่มจัดซื้องานศิลปะเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีบางส่วนได้รับบริจาคมาด้วย จนทำให้ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุที่อยู่ในการครอบครองจำนวนนับแสนชิ้นทีเดียว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ย้ายมาอยู่ในบริเวณสวนอูเอโนะ เขตไทโตะ กรุงโตเกียว เมื่อ ค.ศ.๑๘๘๒ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ทุกวันนี้ในวันสุดสัปดาห์จะมีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก และหากมีการจัดนิทรรศการพิเศษก็จะมีผู้ชมหนาแน่นกว่าปกติ
ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว มีการจัดวัน-เวลาเปิดบริการได้อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์และช่วงเทศกาลปีใหม่เท่านั้น (แต่หากในวันจันทร์ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชมเป็นกรณีพิเศษและจะไปหยุดในวันอังคารแทน) ตั้งแต่เวลา ๙.๓๐ -๑๗.๐๐น. และหากเป็นวันเสาร์ อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ระหว่างเมษายน-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ไม่ตกเร็วเกินไป) จะเปิดให้เข้าชมถึง ๑๘.๐๐น.หรือในกรณีมีนิทรรศการพิเศษ เฉพาะวันศุกร์ก็จะเปิดให้เข้าชมได้ถึง ๒๐.๐๐ น.ทีเดียว
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะจัดแสดงโบราณวัตถุเป็นหลักแล้ว ยังมีห้องสมุดและหอจดหมายเหตุที่เปิดให้คนทั่วไปใช้บริการฟรี รวมทั้งยังจัดกิจกรรมนิทรรศการพิเศษ การบรรยายที่น่าดึงดูดเป็นประจำสม่ำเสมอ และที่น่าสนใจสำหรับนักช้อปปิ้ง ก็คือ Museum shop ซึ่งมีสินค้าของที่ระลึก ซึ่งนำโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์มาเป็นต้นแบบผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกอย่างหลากหลาย และน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง
โดยภาพรวมแล้ว จะเห็นว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความสัมพันธ์กับสังคมญี่ปุ่น และมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อสาธารณชน จึงไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เดียวดาย
ภาพที่ ๑ อาคาร Honkan สร้างขึ้นแทนหลังเดิม ที่เสียหายไปเพราะแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ.๑๙๒๓ ออกแบบโดย Watanabe Jin เริ่มเปิดใช้งานเมื่อ ค.ศ.๑๙๓๘ เป็นที่จัดแสดงศิลปะญี่ปุ่น ส่วนอาคารที่อยู่ทางซ้ายของภาพ (ด้านหลังต้นไม้) คืออาคาร Hyokeikan จัดแสดงศิลปะเอเชีย | ภาพที่ ๒ ทางด้านขวาของภาพคืออาคาร Heiseikan ชั้นล่างจัดแสดงศิลปะโบราณคดีญี่ปุ่น ส่วนชั้นบนจัดนิทรรศการพิเศษ ซึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดนิทรรศการพิเศษจัดแสดงโบราณวัตถุของพระราชวังอิมพีเรียล เนื่องในวโรกาส ๒๐ ปีแห่งการครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน (Treasures of the Imperial Collections - Splendor of Japanese Art ) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยยอมอดทนเข้าแถวยาว รอชมงานกันตลอดทั้งวัน |
ภาพที่ ๓ ทางด้านทิศเหนือของอาคาร Honkan เป็นสวนที่ร่มรื่น มีต้นไม้นานาชนิด และมีอาคารเก่าๆ แทรกตัวอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น เรือนชงชา ที่สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นอาคารเก่าที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคมาเมื่อ ค.ศ.๑๙๖๓ ในแต่ละปีสวนแห่งนี้จะเปิดให้เข้าชมเพียงปีละ ๑ ครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น ในช่วงเวลานี้ใบไม้ในสวนแห่งนี้จะเปลี่ยนสีอย่างสวยงามมาก และจะมีผู้เดินทางมาชมจำนวนมาก | ภาพที่ ๔ ในบริเวณสวนยังเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์แด่ Machida Hisanari ผู้อำนวยการคนแรกด้วย |
ภาพที่ ๕ ห้องจัดแสดงภายในอาคาร Heiseikan จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่อนุญาตให้ถ่ายภาพได้ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแบ่งเป็น ๔ ยุคใหญ่ๆ คือ สมัยหินเก่า (10,000 B.C.) สมัยโชมอน (5th centiry B.C.) สมัยยายอย (3rd century) และสมัยโคะฟุน (7th century B.C.) เชื่อกันว่าผู้คนโบราณในญี่ปุ่นน่าจะอพยพอย่างต่อเนื่องมาจากไซบีเรียและเกาหลี ผ่านเข้ามาทางช่องแคบโซย่าและช่องแคบสุชิมะ | ภาพที่ ๖ แจกัน สมัยโชมอน ยุคนี้ผู้คนเริ่มรู้จักเพาะปลูก ทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งที่เป็นภาชนะดินเผาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และตุ๊กตารวมทั้งภาชนะรูปทรงแปลกๆ สำหรับใช้ในพิธีกรรม |
ภาพที่ ๗ ตุ๊กตาดินเผา เรียกว่า “โดกู” สมัยโชมอน มีลักษณะแปลก ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการสร้างที่แน่ชัด จึงเกิดข้อสันนิษฐานหลายอย่าง เช่น อาจใช้เป็นเครื่องราง แต่บ้างก็เชื่อว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ จึงสร้างเป็นรูปผู้หญิง หรือไม่ก็อาจใช้บรรจุกระดูกคนตาย หรืออาจเป็นวัตถุที่ใช้ถ่ายทอดความไม่ดีต่างๆ ลงไป คล้ายกับตุ๊กตาเสียกบาลก็ได้ | ภาพที่ ๘ แจกันดินเผา สมัยยายอย ส่วนบนเป็นรูปหน้าคน สันนิษฐานว่าอาจใช้บรรจุร่างคนหรือบรรจุกระดูกใส่ในหลุมศพ ยุคนี้เริ่มมีการติดต่อรับวัฒนธรรมจากจีนและเกาหลี เป็นสังคมรู้จักการถักทอ เพาะปลูก หล่อโลหะ สำริด เหล็ก มีการตั้งหมู่บ้าน และมีการฝังศพพร้อมสิ่งของ สะท้อนถึงการแบ่งชนชั้นในสังคม |
ภาพที่ ๙ คันฉ่องสำริด เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ประดับสุสานชนชั้นนำในสมัยยายอยและโคะฟุน บางแห่งก็ใส่ลงไปในไหบรรจุศพ เป็นอิทธิพลจากเกาหลีและจีน | ภาพที่ ๑๐ ระฆังโดตากุ (โด แปลว่า สำริด) พบคู่กับคันฉ่องสำริด ในสุสานของชนชั้นนำเช่นกัน เชื่อว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมือง ใช้บวงสรวงเทพเจ้า เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปัดเป่าความยุ่งยาก ต้นกำเนิดเชื่อว่าอยู่ในเกาหลี สันนิษฐานว่าระฆังโดตากุรุ่นแรกๆ นิยมสร้างขนาดเล็ก ต่อมาจึงนิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่และมีความหรูหรามากขึ้น |
ภาพที่ ๑๑ ลูกปัดหินโค้ง พบร่วมกับคันฉ่องสำริดและดาบสำริด ในสุสานชนชั้นนำสมัยโคะฟุน เชื่อว่าทั้งสามสิ่งนี้น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลที่มีอำนาจ ในสมัยนี้การสร้างสุสานมีความสำคัญมาก นิยมสร้างเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย มีทั้งที่ทำเป็นรูปวงกลม สี่เหลี่ยม และรูปทรงคล้ายรูกุญแจ เป็นวัฒนธรรมที่แพร่เข้ามาพร้อมกับชาวเกาหลีที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาทางตะวันตกของญี่ปุ่น | ภาพที่ ๑๒ โลงหิน ในสมัยยายอยและโคะฟุนนิยมบรรศพไว้ในภาชนะ มีทั้งที่เป็นไหขนาดใหญ่ นำมาประกบปากเข้าด้วยกัน หรือไม่ก็เป็นหีบไม้ โลงหิน โดยมีการฝังสิ่งของสำคัญประจำตัวของผู้ตายลงไปด้วย กระทั่งเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญ ได้เปลี่ยนแนวคิดในการฝังศพไปเป็นการเผา ทำให้การสร้างสุสานหมดความสำคัญลง |
ภาพที่ ๑๓ ตุ๊กตาดินเผาเนื้อหยาบ เรียกว่า “ฮานิวะ” สร้างขึ้นในสมัยโคะฟุน พบทั้งที่เป็นทรงกระบอก ตั้งเรียงรายไปตามเนินสุสาน และที่เป็นรูปคน สัตว์ บ้าน ฯลฯ บางท่านเชื่อว่าแต่เดิมคงใช้เป็นเครื่องค้ำยันกันไม่ให้สุสานถล่มลงมา จึงทำเป็นทรงกระบอก ต่อมาได้ปรับให้เป็นเครื่องประดับสุสาน จึงทำเป็นรูปทรงต่างๆ คล้ายกับคติการทำ “หมิงฉี้” หรือสิ่งของอุทิศให้ผู้ตาย ซึ่งนิยมทำกันในจีน แต่บางท่านก็เชื่อว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากเกาหลี เพราะได้ขุดพบตุ๊กตาดินเผาทรงกระบอกจากป้อมค่ายแห่งหนึ่งของเกาหลี มีอายุเก่าแก่ไล่ๆ กับการทำฮานิวะของญี่ปุ่น | ภาพที่ ๑๔ ฮานิวะรูปบ้าน พบที่บริเวณเขตมิยาซากิ อาจใช้เป็นหลักฐานในการสันนิษฐานรูปแบบบ้านเรือนของชนชั้นนำในสมัยโคะฟุนได้ทางหนึ่ง บางท่านเสนอว่าอาจเป็นที่สถิตดวงวิญญาณของผู้ตาย |
อ้างอิง
- มาลินี คัมภีรญาณนนท์. ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๒.
- 50 Masterpieces of Japanese Art from the Tokyo National Museum Collection, 3rd edition, 2008