จิตรกรรมที่ผนังด้านนอกของสิมอีสาน วาดไว้ทำไม?

จิตรกรรมที่ผนังด้านนอกของสิมอีสาน วาดไว้ทำไม?

จิตรกรรมที่ผนังด้านนอกสิมอีสาน วาดไว้ทำไม?

            การวาดจิตรกรรมฝาผนังในอีสาน(ฮูปแต้ม) มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ นิยมวาดบนผนังทั้งภายในอาคารและด้านนอกของสิม(อุโบสถ) จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสิมอีสาน รูปแบบการประดับตกแต่งผนังเช่นนี้ คล้ายคลึงกับการประดับตกแต่งผนังด้านนอกของอาคารบางประเภทในประเทศลาว เช่น หอไหว้สีกุหลาบ วัดเชียงทอง หลวงพระบาง แต่ไม่ได้วาดจิตรกรรม หากทำเป็นภาพประดับกระจกเล่าเรื่องชาดกนอกนิบาต
         การประดับตกแต่งที่ผนังด้านนอกของอาคารศิลปะลาว-อีสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวดังกล่าวข้างต้นนี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบเหตุผล ที่มา ได้อย่างแน่ชัด แต่นักวิชาการจำนวนหนึ่งคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของสิมอีสาน ที่จะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในสิม หรือหากเป็นชาย ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าออกได้ตามอำเภอใจ เนื่องจากถือว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ สงวนไว้เฉพาะสงฆ์เท่านั้น ดังนั้นภาพที่วาดไว้ที่ผนังด้านนอกจึงน่าจะทำขึ้นเพื่อมุ่งหมายสื่อสารกับชาวบ้านทั่วไปซึ่งมักไม่ได้เข้าไปภายในสิม โดยภาพเหล่านี้มักเป็นภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก เรื่องสินไซ(สังข์ศิลป์ชัย) และเรื่องนรก สวรรค์(พระมาลัย) ซึ่งเป็นนิทานท้องถิ่นใช้สั่งสอนเรื่องคุณธรรม ศีลธรรมที่ชาวบ้านทั่วไปรับรู้ เข้าใจได้ง่าย 
          ขณะที่บางท่านเสนอว่า การวาดภาพเรื่องเวสสันดรชาดก นรก สวรรค์(พระมาลัย) และสินไซ ซึ่งส่วนใหญ่มักนำมาเล่าขานในงานบุญพระเวส ประเพณีสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอีสาน และส่วนหนึ่งนำมาแสดงเป็นมหรสพในงานบุญต่างๆ  อาจเป็นการ “ตรา” เรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านรู้จัก รับรู้ มาประดับไว้บนผนังอาคาร เพื่อทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ศาสนสถานด้วยอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

ติดตามรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ในหนังสือเรื่อง “เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน” เขียนโดย ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส 

               

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้