จิตรกรรมฝาผนังภาพ “เสือกัดพระ” ที่วัดเทวราชฯ
วัดเทวราชกุญชร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ตามประวัติเล่าว่าสร้างมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยกรมพระพิทักษ์เทเวศร (ต้นราชสกุล “กุญชร”)
วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถ เป็นอาคารสำคัญ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนภายในวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง คาดว่าวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพยดากลางหมู่เมฆกำลังเหาะมาถวายสักการะพระพุทธเจ้า แต่เฉพาะผนังด้านหน้าพระประธานวาดภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนผนังด้านล่างระหว่างช่องประตูด้านหน้าและด้านหลัง วาดภาพทศชาติชาดกเรื่องสุวรรณสาม และกิจวัตรของสงฆ์ ตามลำดับ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างวาดภาพ “ปลงอสุภะ” หรือการพิจารณา “ซากศพ” เพื่อลดละกิเลสและเจริญวิปัสสนา
ภาพปลงอสุภะนี้ เป็นหนึ่งในภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประเภท “กิจและข้อปฏิบัติที่ถูกต้องของพระสงฆ์” ซึ่งได้รับความนิยมวาดขึ้นอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อเน้นย้ำถึงวิถีปฏิบัติตามครรลองที่ถูกต้องดั้งเดิมของสงฆ์ ตามกระแส “ธรรมยุติกนิกาย” ที่กำลังเติบโตขึ้นในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ภาพระหว่างช่องหน้าต่างนี้ มีภาพที่น่าสนใจอีกภาพหนึ่ง กลับไม่ได้เป็นภาพพิจารณาซากศพ หรือ “ปลงอสุภะ” แต่เป็นภาพพระสงฆ์นั่งอยู่กลางป่า กำลังถูกเสือกัดขย้ำคอ มีเลือดไหลโชก
แล้วภาพ “เสือกัดพระ” ภาพนี้มีความหมายอย่างไร?
จากเนื้อหาตอนหนึ่งของ คัมภีร์สุมงฺคลวิลาสินี ทุติยภาค เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีภิกษุ ๓๐ รูปได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพากันไปจำพรรษาในป่า โดยตกลงกันไว้ว่าจะปฏิบัติธรรมตลอดราตรี ๓ ยาม และไม่ควรไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน
ครั้นตอนเช้ามืดก็ออกไปพักผ่อน แต่โชคร้าย เสือตัวหนึ่งได้จับภิกษุไปกินทีละรูป รวม ๑๕ รูป โดยไม่มีภิกษุรูปใดเอะอะโวยวาย ครั้นถึงวันอุโบสถ (พวกพระภิกษุมาประชุมกัน) จึงไต่ถามกันว่าพวกภิกษุบางรูปหายไปไหน ครั้นทราบเรื่องแล้วจึงตกลงกันว่า ต่อไปนี้หากภิกษุรูปใดถูกเสือจับ ควรตะโกนกล่าวแจ้งแก่กัน
จนต่อมาเมื่อพระสงฆ์เหล่านี้กลับเข้าป่าอีกครั้งหนึ่ง ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดิม เสือได้เข้ากัดภิกษุรูปหนึ่ง ท่านจึงร้องออกไป ภิกษุทั้งหลายจึงติดตามไปช่วย เสือก็ลากภิกษุรูปนั้นขึ้นไปบนภูเขาที่ลาดชัน เป็นทางที่พวกภิกษุผู้ติดตามขึ้นไปไม่ได้ แล้วเสือก็เริ่มกัดกินภิกษุนั้นตั้งแต่นิ้วเท้าไปก่อน พวกภิกษุที่ติดตามไปจึงบอกภิกษุรูปนั้นว่า "บัดนี้เราไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ในฐานะเช่นนี้ ธรรมวิเศษจะปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุหนุ่มนั้น นอนอยู่ในปากเสือนั่นแล ข่มเวทนานั้นไว้แล้วเจริญวิปัสสนา พอเสือกัดกินถึงข้อเท้า ท่านก็บรรลุโสดาปัตติผลพอเสือกัดกินถึงเข่า ท่านก็บรรลุสกทาคามิผล พอเสือกัดกินถึงท้องท่านก็เป็นอนาคามี ขณะที่เสือยังไม่ทันกินหัวใจนั่นเองท่านก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ภาพ “เสือกัดพระ” ภาพนี้อาจวาดขึ้นจากเนื้อหาตอนนี้ก็เป็นได้ โดยแม้จะเป็นภาพที่แตกต่างออกไปจากภาพการพิจารณาซากศพ แต่ก็มีเนื้อหาสื่อถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเช่นเดียวกัน
(ข้อมูลคัมภีร์สุมงคลวิลาสินี จากเวบธรรมะไทย)