ข้อเสนอใหม่ “พระมหามงกุฎ” ยอดพระปรางค์วัดอรุณ
เดิมเคยมีการอธิบายกันว่า การที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระมหามงกุฎจากพระประธานวัดนางนอง กรุงเทพฯ ขึ้นไปประดิษฐานไว้บนยอดเหนือนภศูลของพระปรางค์วัดอรุณฯ กรุงเทพฯ เป็นการสื่อนัยยะว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” จะได้เป็น “ยอดของบ้านเมืองต่อไป” หรือจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป
แต่ล่าสุด อ.พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ได้เสนอข้อคิดใหม่ว่า พระมหามงกุฎเหนือยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ นี้ น่าจะสื่อความหมายถึง “ยอดของวิมานพระอินทร์” ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก ซึ่งได้ระบุเปรียบพระวรกายของพระมหากษัตริย์ประดุจเขาพระสุเมรุ โดยมีพระมหามงกุฎเปรียบได้กับ “ยอดของวิมานพระอินทร์”
อ.พิชญา อธิบายว่า ข้อเสนอนี้สอดรับกันดีกับรูปแบบของพระปรางค์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงเขาพระสุเมรุ โดยมีเรือนธาตุของพระปรางค์ ซึ่งมีการสร้างรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับอยู่ในซุ้ม เปรียบได้กับ “วิมานพระอินทร์” หรือ “วิหารไพชยนต์”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บทความเรื่อง บุษบกธรรมาสน์ “ยอดมงกุฎ” ในการเปรียญ วัดราชประดิษฐ์ฯ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน ตุลาคม 2553