พระอัฏฐารส “พระ๑๘ ศอก” ไม่จำกัดแค่พระยืน?
พระ "อัฏฐารส" เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในจารึกสมัยสุโขทัย แปลความหมายได้ว่า “พระสูง ๑๘ ศอก” และคาดกันว่าหมายถึงพระพุทธรูปยืนจำนวนหนึ่งที่พบในเมืองสุโขทัย และยังพบในหัวเมืองเครือข่ายสุโขทัยด้วย ดังเช่น พระอัฏฐารส วัดมหาธาตุ สุโขทัย พระอัฏารส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก โดยจากการสำรวจของนักวิชาการพบว่า พระพุทธรูปยืนกลุ่มนี้มีความสูงราว ๑๘ ศอก ตรงกับชื่อเรียก นักวิชาการอธิบายว่า การสร้างพระพุทธรูปขนาด ๑๘ ศอกนี้ คงสร้างให้ตรงกับข้อความที่ถูกระบุไว้ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูง ๑๘ ศอกนั่นเอง
อ.บุณยกร วชิระเธียรชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า คติการสร้างพระขนาด ๑๘ ศอก สามารถสืบสาวคติการสร้างกลับไปได้ก่อนสมัยสุโขทัย โดยพบว่ามีการสร้างมาก่อนแล้วในเกาะลังกา โดยนิยมสร้างเป็นพระยืนขนาดสูงใหญ่ มีขนาดราว ๑๘ ศอก และเข้าใจว่าเมืองสุโขทัยคงรับอิทธิพลคตินี้มาจากลังกา
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ อ.บุณยกร ได้เสนอว่า เดิมที่เคยเข้าใจกันว่าพระอัฏฐารสในสมัยสุโขทัย หมายถึง พระยืนขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น อาจเป็นการนิยามความหมายที่จำกัดไป แต่คาดว่าน่าจะหมายถึงพระพุทธรูปปางอื่นๆ ด้วย เช่น พระนั่ง และพระลีลา ซึ่งสร้างขึ้นให้มีขนาดพระวรกายสูง ๑๘ ศอกเช่นเดียวกัน (พระนั่ง จะมีความสูงขององค์พระน้อยกว่าพระยืน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปนั่ง แต่มีขนาดสัดส่วนขององค์พระวรกายเท่ากับพระยืนสูง ๑๘ ศอก) พระพุทธรูปที่พบในกลุ่มนี้ มีเช่น พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนฯ กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย หรือพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ ที่กำแพงเพชร และที่วัดเชตุพน สุโขทัย เป็นต้น
สามารถอ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “อฏฐารถ” คติความเชื่อ และการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมา โดย อ.บุณยกร วชิระเธียรชัย วารสาร “หน้าจั่ว” ฉบับที่ ๗ (กันยายน ๒๕๕๔ – สิงหาคม ๒๕๕๕) จัดพิมพ์โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร