เชียงใหม่มี “คุ้มหลวง” แต่ถูก "ทำให้ลืม”
ในล้านนาเรียกพระราชวังของเชื้อพระวงศ์ว่า “คุ้มหลวง” ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางทั้งทางวัฒนธรรมและทางการเมืองของล้านนา รวมทั้งยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง สำหรับคุ้มหลวงในเมืองเชียงใหม่ ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย โดยตั้งอยู่บริเวณทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นทิศมงคล
ต่อมาอีกหลายร้อยปีในสมัยฟื้นฟูเมือง หลังพ้นจากการเป็นประเทศราชของพม่า พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ใหม่แห่งล้านนาได้ทรงรื้อฟื้นคุ้มหลวงขึ้นใหม่ โดยสร้างขึ้นบริเวณกลางเมือง แต่ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ขึ้นแทนที่ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ส่วนคุ้มหลวงเดิมได้ถูกทิ้งร้างไป อย่างไรก็ตาม ต่อมาหลังจากที่สยามได้เข้าครอบครองล้านนาแล้ว รัฐสยามก็ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่คุ้มหลวงเดิมในเมืองเชียงใหม่ให้แปรสภาพเปลี่ยนสถานะไปจากเดิม เช่น ถูกใช้เป็นเรือนจำ ศาลาว่าการมณฑล โรงเรียน เป็นต้น
ดร.โดม ไกรปกรณ์ นักประวัติศาสตร์ อธิบายว่า การแปรสภาพคุ้มหลวงของล้านนาโดยรัฐสยาม อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามลบสำนึกทางวัฒนธรรมของล้านนา เพื่อกลบกลืนล้านนาให้รวมเป็นเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสยาม นอกจากนี้ยังเป็นการลดความสำคัญของสถานที่เดิมที่เคยเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ลดน้อยถอยลง เช่น ถูกแปรสภาพกลายมาเป็นเรือนจำ
กระบวนการในการลบสำนึกทางวัฒนธรรมนี้ ยังเห็นได้อีกจากเนื้อหาในพงศาวดารโยนก อันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งฝ่ายสยามเป็นผู้รวบรวมและเขียนขึ้น โดยพบว่าเนื้อหาในพงศาวดารโยนกกล่าวถึงเรื่องราวของคุ้มหลวงน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่ให้ความสำคัญเลย
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “คุ้มหลวง/และเวียงแก้วของเจ้าเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องราวที่ไม่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารสยามและร่องรอบที่พบในหลักฐานอื่น” โดย ดร.โดม ไกรปกรณ์ ในวารสารหน้าจั่ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 10