“จอง” ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน สืบสายมาจากสังฆารามในอินเดีย
สิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งที่มักพบภายในวัดของชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนคือ “จอง” ซึ่งถือเป็นอาคารสำคัญเปรียบเสมือนศูนย์กลางของวัด
“จอง” เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจาก “เจาว์” ในภาษาพม่า ซึ่งแปลว่าวัดหรือวิหาร นิยมสร้างยกพื้นสูง คล้ายเรือนขนาดใหญ่ หลังคาประดับประดาด้วยเครื่องยอดแบบพม่า จัดเป็นเรือนสารพัดประโยชน์ เป็นทั้งกุฏิสงฆ์ วิหาร และศาลาการเปรียญรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยทั่วไปมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกุฏิสงฆ์จะตั้งเรียงรายขนาบอยู่ด้านข้าง ตรงกลางเป็นห้องโถง ด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านหน้าพระพุทธรูปเป็นที่ที่โล่งกว้าง สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้
นักวิชาการอธิบายว่า รูปแบบแผนผัง “จอง” ได้สืบสายมาจากแผนผังของ “สังฆาราม” ที่พบสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในอินเดียโบราณเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยหรือกุฏิสงฆ์เช่นเดียวกัน โดยสร้างขึ้นเป็นอาคารสี่เหลี่ยม มีห้องเล็กๆ เรียงรายอยู่รอบอาคาร ส่วนตรงกลางเป็นลานกว้าง ซึ่งเดิมอาจใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์และทำกิจต่างๆ ของสงฆ์ นอกจากนี้ยังอาจมีการประดิษฐานพระเจดีย์ หรือพระพุทธรูป และอาจมีบ่อน้ำด้วย
อาคารที่สืบสายมาจากสังฆารามในอินเดียเช่นเดียวกับ “จอง” นี้ ยังพบได้อีกในหมุ่กุฏิสงฆ์แบบดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่หลายแห่งในเขตภาคกลางของไทย โดยมักสร้างขึ้นในผังสี่เหลี่ยม มีกุฏิสงฆ์แบ่งเป็นห้องๆ ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ ส่วนพื้นที่ตรงกลางเป็นลานโล่งใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้
จอง วัดหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน | ซากสังฆาราม พบได้ทั่วไปในพุทธสถานอินเดียโบราณ ห้องกุฏิจะอยู่รายรอบอาคาร แบ่งเป็นห้องๆ ตรงกลางเป็นลานโล่ง ส่วนหลังคาทำด้วยโครงสร้างไม้ ซึ่งผุพังไปหมดแล้ว(ภาพจาก www.vam.ac.uk) |