จิตรกรรม “คัทธณะกุมาร” วัดภูมินทร์
พระโพธิสัตว์ “ลูกกำพร้า” สะท้อนชีวิตเจ้าเมืองน่าน?
หนังสือเรื่อง "จิตรกรรมเล่าเรื่อง วรรณคดีอมตะ" อธิบายไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ถูกวาดขึ้นเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยในขณะนั้นเมืองน่าน มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสยาม มีเจ้าเมืองน่านปกครองเมืองของตนเองอยู่
โดยเนื้อเรื่องของจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แบ่งออกเป็น ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ
๑.ภาพทศชาติตอนเนมีราช เสด็จโปรดนรก-สวรรค์ โดยมีภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือ “ภาพกระซิบรัก” วาดแทรกอยู่ในตอนนี้
๒.ภาพพุทธประวัติ เป็นภาพพุทธเจ้าและพระสาวก วาดเป็นภาพขนาดใหญ่ไว้ตอนบนสุดของผนัง
๓.ภาพชาดกเรื่อง “คัทธณะกุมาร” ถือเป็นภาพเนื้อหาหลักของจิตรกรรมแห่งนี้ วาดไว้บนผนังทุกด้าน ยกเว้นด้านตะวันตก
คัทธณะกุมารถือเป็นชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่มีพ่อเป็นช้าง(พระอินทร์แปลงกายมา) ซึ่งไม่ได้อยู่เลี้ยงดูคัทธณะกุมารแต่อย่างใด มีเพียงแม่คอยเลี้ยงดูคัทธณะกุมารแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อเติบโตขึ้น คัทธณะกุมารได้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลแม่เป็นอย่างดี แต่เมื่อคิดถึงพ่อของตนจึงออกเดินทางติดตามหาพ่อ ระหว่างทางได้พบกับอุปสรรคนานาประการที่น่าตื่นเต้น และได้ต่อสู้จนได้รับชัยชนะ จนในที่สุดได้พบพ่อของตน รวมทั้งยังได้พบกับคู่ครองจนมีบุตรด้วยกัน ๒ คน แต่แล้วต่อมาบุตรทั้งสองต้องบาดหมางกันจนทำให้ต้องรบกัน
ผู้รู้อธิบายว่า การหยิบเลือกคัทธณะกุมารมาวาดไว้ที่วัดภูมินทร์ อันเป็นวัดสำคัญกลางเมืองน่าน อาจเป็นการสะท้อนความในใจด้านการเมืองของเจ้าเมืองน่าน รวมถึงอาจเกี่ยวข้องกับการเปรียบเปรยชีวิต “ลูกกำพร้า” ของเจ้าเมืองน่าน ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตของพระโพธิสัตว์อย่างคัทธณะกุมาร หรืออาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่ต้องมารบกัน ซึ่งสอดคล้องกับเมืองหลวงพระบางกับน่านที่ต้องมาขัดแย้งกันในเวลานั้น
ติดตามรายละเอียดอันสนุกสนานน่าติดตามของเรื่องคัทธณะกุมาร-ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ และรายละเอียดประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ในหนังสือเรื่อง “จิตรกรรมเล่าเรื่อง วรรณคดีอมตะ” ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ซึ่งเล่าเรื่องวรรณคดีชื่อก้อง ๖ เรื่อง ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังสำคัญของไทย ๗ แห่ง ซึ่งวาดเรื่องเหล่านี้ไว้ในราวสมัยรัชกาลที่ ๔-๕