รวมจิตรกรรมเรื่องฮิต สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่หอไตร วัดบางแคใหญ่ อัมพวา

รวมจิตรกรรมเรื่องฮิต สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่หอไตร วัดบางแคใหญ่ อัมพวา

รวมจิตรกรรมเรื่องฮิต สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่หอไตร วัดบางแคใหญ่ อัมพวา
                 วัดบางแคใหญ่ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีหอไตร (ภาพที่ 1) ที่กล่าวกันว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการบูรณะวัดครั้งสำคัญ ภายในหอไตรมีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าจะวาดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยเช่นกัน

                หอไตรหลังนี้มีขนาดไม่ใหญ่ พื้นที่ในการวาดภาพจิตรกรรมจึงมีไม่มากนัก แต่กลับรวบรวมเรื่องต่างๆ ที่แพร่หลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบไปด้วย

                1. พุทธประวัติ เลือกเหตุการณ์ที่เป็นการ “สั่งสอน” ผู้คนประเภทต่างๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ได้แก่

                -พระประยูรญาติ  เป็นตอนที่พระพุทธองค์เสด็จกลับไปกรุงกบิลพัสดุ์ เหล่าพระประยูรญาติผู้ใหญ่ต่างมีทิฐิ ไม่ยอมมาเข้าเฝ้า ส่งให้เยาวบุตรและยุวธิดามาต้อนรับแทน พระพุทธองค์จึงแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศ เมื่อเหล่าพระประยูรญาติเห็นจึงลดทิฐิ ยอมนับถือและมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์ (ภาพที่ 2)

               -มหิสรเทพบุตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์ด้วยการซ่อนองค์อยู่ใกล้ๆ กับพระเนตรของ “มหิสรเทพบุตร” (พระอิศวร) ทำให้มหิสรเทพบุตรหาพระพุทธเจ้าไม่พบ จึงเคารพในฤทธิ์บารมีของพระพุทธเจ้า ยอมนับถือและฟังธรรมจากพระพุทธองค์ และหลังการปรินิพพานมหิศรเทพบุตรก็ได้เนรมิตพระพุทธรูปขึ้นเทินไว้เหนือเศียร นำไปประดิษฐานในมหาวิหาร ดังนั้นภาพบุคคลที่นั่งอยู่ทางซ้ายของภาพ มีภาพพระพุทธเจ้าองค์เล็กๆ ประทับยืนอยู่บนศีรษะ (หลุดร่วงไปแล้ว เหลือแต่เค้าโครงภาพ) ก็คือมหิสรเทพบุตร ส่วนภาพทางด้านขวาเป็นภาพมหิสรเทพบุตรแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า (ภาพที่ 3)

                 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา พบว่ามีการวาดภาพพระอิศวรที่มีพระพุทธเจ้าอยู่บนเศียรหลายภาพ เช่น ในสมุดภาพ ในจิตรกรรมหลังบานหน้าประตูของอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า (เปิดดูภาพสีได้ในหนังสือเทพฮินดูผู้พิทักษ์พุทธสถาน ของอรุณศักดิ์ กิ่งมณี ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส หน้า 214 และ 223)  รวมทั้งยังสร้างเป็นประติมากรรมหลายชิ้น ซึ่ง ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เชื่อว่าเทพองค์ดังกล่าวน่าจะเป็นพระอิศวร  แต่เพราะความสับสนในสมัยหลังจึงนำไปปนกับเรื่องของพกาพรหม ซึ่งมีเหตุการณ์คล้ายๆ กัน (ดูรายละเอียดใน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. การศึกษาคติการสร้างพระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคลฯ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.)

                 -พญาชมพูบดี พระพุทธเจ้าทรงแปลงพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราช เพื่อเตือนสติพญาชมพูบดีให้เลิกหลงใหลในความยิ่งใหญ่ และทนเห็นความยิ่งใหญ่ของผู้อื่นไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงให้พระอินทร์แปลงเป็นราชทูต ไปเชิญพญาชมพูบดีมาเข้าเฝ้า (ภาพที่ 4) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ปรากฏพระองค์ในรูปของพระราชา และแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า สุดท้ายพญาชมพบดีก็ยอมพ่ายแพ้  (ภาพที่ 5) จิตรกรรมแห่งสำคัญที่เขียนเรื่องนี้ไว้คือ จิตรกรรมในอุโบสถวัดนางนอง เป็นภาพที่คู่กับพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่หล่อขึ้นในปีแรกแห่งการครองราชย์องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จิตรกรรมเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลายในช่วงรัชสมัยนี้

                  -ป่าเลไลยก์  เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปลีกหนีการทะเลาะกันของเหล่าสงฆ์ ไปประทับอยู่ในป่า ช้างและลิงจึงได้ทำหน้าที่ดูแลถวายกล้วยและน้ำผึ้งแด่พระพุทธองค์ พุทธประวัติตอนนี้ถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดหลายแห่งที่สร้างและบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 สะท้อนว่าในช่วงเวลานั้นน่าจะมีความสนใจ และคุ้นเคยกับพุทธประวัติตอนนี้เป็นพิเศษ (ภาพที่ 6)

                  -โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติ ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จกลับลงจากสวรรค์ด้วย และเหตุการณ์ทั้งสองตอนนี้มักวาดไว้ที่ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานหลายแห่ง นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา (ภาพที่ 7)

                  ภาพพุทธประวัติจบลงด้วยการปรินิพพาน (ภาพที่ 8)

                   2. การบูชารอยพระพุทธบาท (ภาพที่ 9) ในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากจะมีพระบาทคู่ที่งดงามอยู่ที่ฝ่าพระบาทของพระไสยาสน์ วิหารวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ แล้ว ในวิหารวัดบางกะพ้อม ย่านอัมพวา ยังมีทั้งรอยพระพุทธบาทและปูนปั้นประดับผนัง เล่าเรื่องรอยพระพุทธบาทที่สำคัญ 5 แห่งอีกด้วย สะท้อนคติการบูชารอยพระพุทธบาทที่แพร่หลายในช่วงสมัยนั้น แต่รอยพระพุทธบาทภาพนี้ไม่ได้วาดรูปมงคล 108 ให้หันไปตามแนวยาวของฝ่าพระบาทอย่างที่พบทั่วไป แต่วาดขวางรอยพระบาท ทำให้ผู้ชมภาพสามารถเห็นรูปมงคล 108 ได้ชัดเจนกว่า (ภาพที่ 10)

                   3. พระภิกษุ แบ่งได้เป็น

                   - พระมาลัยขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ภาพที่ 11) เรื่องราวของพระมาลัย อธิบายไว้อย่างละเอียดโดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ในหนังสือเรื่องแกะรอยพระมาลัย ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่าในสมัยรัตนโกสินทร์คติการนับถือพระมาลัยแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการสร้างขึ้นจำนวนมาก และสร้างหลายปาง นอกจากนี้ยังทรงมีรับสั่งให้หล่อประติมากรรมพระมาลัยบรรจุไว้ภายในองค์พระปฏิมา วัดอรุณฯ ฝั่งธนบุรีด้วย

                   - พระสงฆ์ปลงอสุภะ (ภาพที่ 12) ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งของสงฆ์ มีการวาดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่นิกายธรรมยุติกนิกายซึ่งก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ให้ความสำคัญต่อวัตรปฏิบัตินี้เป็นพิเศษ ซึ่งอาจมีส่วนให้เกิดความนิยมวาดภาพลักษณะนี้อย่างแพร่หลายในสมัยต่อมา  

ภาพที่ 1 หอไตร วัดบางแคใหญ่ จ.สมุทรสงคราม

ภาพที่ 2 พระพุทธเจ้าเหาะขึ้นไปกลางอากาศ ท่ามกลางเหล่าพระประยูรญาติ

ภาพที่ 3 มหิสรเทพบุตรเทินพระพุทธรูปไว้เหนือเศียรด้วยความเคารพต่อพระพุทธเจ้า

ภาพที่ 4 พญาชมพูบดียืนยกมือแสดงความไม่พอพระทัย ที่ราชทูต (พระอินทร์) มาเชิญให้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช (พระพุทธเจ้า)

ภาพที่ 5 พระพุทธเจ้าแปลงองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราช ประทับในมหาปราสาท

ภาพที่ 6 พระพุทธเจ้าหลีกหนีการวิวาทกันของเหล่าสาวก มาประทับในป่า มีช้างและลิงคอยปรนนิบัติ

ภาพที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภาพที่ 8 ปรินิพพาน

ภาพที่ 9 การบูชารอยพระพุทธบาท

ภาพที่ 10 รอยพระพุทธบาท

ภาพที่ 11 พระมาลัยเยี่ยมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภาพที่ 12 พระสงฆ์ปลงอสุภะ



ภาพที่ 1
 


ภาพที่ 2


ภาพที่ 3


ภาพที่ 4


ภาพที่ 5


ภาพที่ 6

ภาพที่่ 7


ภาพที่ 8

ภาพที่ 9


ภาพที่ 10


ภาพที่ 11


ภาพที่ 12

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้