ปางยมกปาฏิหาริย์ “สื่อศาสนา”
เครื่องมือเผยแพร่พุทธศาสนายุคแรก
พระพิมพ์ กำเนิดขึ้นในสยามมานับพันปีแล้ว คาดว่าเดิมทำขึ้นครั้งแรกในอินเดีย เพื่อใช้เป็นที่ระลึกในโอกาสเดินทางไปจาริกแสวงบุญยังศาสนสถานสำคัญ เช่น พุทธคยา เป็นต้น
ในระยะแรกพระพิมพ์ถูกทำขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ แล้วนำดินกดประทับลงไป จนเป็นที่มาของคำว่า “พระพิมพ์” อันเป็นกระบวนการที่ผลิตได้ง่าย ต้นทุนต่ำ จึงสามารถทำได้จำนวนมากและแพร่หลาย ต่อมากระบวนการทำพระพิมพ์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นเป็นการหล่อโลหะ และพัฒนาต่อมากลายเป็นเครื่องรางของขลังหรือที่เรียกว่าพระเครื่องที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
ผศ. ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือ “มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม” ว่าพระพิมพ์ในยุคแรกของสยาม เกิดขึ้นในสมัยทวารวดี โดยพระพิมพ์ที่โดดเด่นและได้รับความนิยมในยุคนั้น มักทำภาพเหตุการณ์ตอน “ยมกปาฏิหาริย์”
พุทธประวัติตอนยมกปาฏิหาริย์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงปราบเหล่าเดียรถีย์ที่ไม่เชื่อถือเคารพพระองค์ ด้วยการทรงเนรมิตสายน้ำสายไฟออกจากพระวรกาย และยังทรงเนรมิตพระวรกายขึ้นใหม่ เพื่อปุจฉาวิสัชนาพระธรรมกับพระองค์ จนทำให้ผู้ฟังธรรมในคราวนั้นบรรลุธรรมจำนวนมาก
ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายว่า ความนิยมในการทำพระพิมพ์เป็นรูปตอนยมกปาฏิหาริย์ในยุคแรกๆ นี้ คงอาจเกี่ยวข้องกับการที่พุทธประวัติตอนนี้มีเนื้อหาที่แสดงถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ และแสดงถึงชัยชนะของพุทธศาสนาที่มีต่อความเชื่ออื่น อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่แสดงถึงผลของการฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ที่จะทำให้ผู้ฟังได้บรรลุธรรมจนพ้นทุกข์ได้
ดังนั้นจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่พุทธประวัติตอนนี้จะถูกใช้มาเป็นสื่อในการเผยแพร่ศาสนาในยุคแรกๆ บนดินแดนสยาม ซึ่งแต่เดิมเป็นดินแดนที่นับถือผีอย่างแพร่หลาย
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกในหนังสือเรื่อง “มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม” โดย ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส