พระมหาพิชัยมงกุฎ – พระแสงขรรค์
สัญลักษณ์ “ทางโลกย์ - ทางธรรม” ของรัชกาลที่ 4
หากสังเกตจะเห็นว่า ที่หน้าบันของโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากจะประดับด้วยรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์แล้ว ยังมีพระแสงขรรค์ประดับอยู่คู่กันด้วย
อ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายความหมายของการประดับรูปดังกล่าวไว้ว่า
พระมหาพิชัยมงกุฎ คือหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ยังสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย เนื่องจากพ้องกับพระนามเดิมของพระองค์เมื่อแรกพระราชสมภพที่ว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” นอกจากนี้ยังอาจสื่อถึงยอดวิมานของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งอาจสื่อความหมายได้อีกว่า ทรงเป็นสมมติเทพ
พระแสงขรรค์ คือหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงสถานะความเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกับพระมหาพิชัยมงกุฎแล้ว ยังอาจสื่อถึง “พระขรรค์แก้ว” ที่ได้รับการเปรียบเทียบไว้ในปฐมสมโพธิกถาว่า เป็นอาวุธของพระพุทธเจ้าที่ทรงใช้ต่อสู้กับมาร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วชิรญาณปัญญา” ซึ่งคำว่า “วชิรญาณ” นี้พ้องกับพระราชฉายาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ว่า “วชิรญาณภิกขุ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความหยั่งรู้อันแข็งแกร่งประดุจเพชรหรือวัชระ” นอกจากนี้พระแสงขรรค์ยังอาจหมายถึงพระขรรค์หรือ “วัชระ” ของพระอินทร์อีกด้วย
อ.พิชญา สุ่มจินดา อธิบายสรุปว่า การใช้วัตถุ 2 สิ่งดังกล่าวข้างต้น มาประดับไว้พร้อมกันบนหน้าบันของโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ที่พระองค์โปรดฯ ให้สร้างขึ้นนั้น น่าจะเพื่อสื่อถึงพระองค์ใน 2 สถานะ คือทั้งในทางโลกย์และทางธรรมไปพร้อมกัน โดยพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งพ้องกับพระนาม “เจ้าฟ้ามงกุฎ” สื่อถึงพระองค์ในทางโลกย์ ส่วนพระแสงขรรค์ หมายถึง “วชิรญาณ” ซึ่งพ้องกับพระราชฉายาเมื่อครั้งที่ทรงผนวชอยู่ ก็สื่อถึงพระองค์ในทางธรรมนั่นเอง
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกใน หนังสือเรื่อง “ถอดรหัสพระจอมเกล้า” โดย พิชญา สุ่มจินดา ผลิตโดย สำนักพิมพ์มติชน