พระแก้วมรกต หินหยกมาจากรัฐกะฉิ่น สลักโดยช่างจีน?
เดิมเคยมีผู้เสนอว่า พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปล้านนาที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากพระพุทธรูปหินทรายที่พบอยู่ในจังหวัดเชียงรายและพะเยา
อย่างไรก็ตาม รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอข้อคิดแตกต่างไปจากเดิมว่า พระแก้วมรกตน่าจะถูกสลักขึ้นโดยช่างที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งต้องใช้เทคนิควิธีที่แตกต่างไปจากการแกะสลักหินทราย โดยในช่วงเวลานั้นช่างที่มีความชำนาญน่าจะเป็นช่างชาวจีนตอนใต้ ซึ่งถือเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับล้านนามานานแล้ว โดยจะเห็นหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมจากศิลปะจีนที่สอดแทรกอยู่ในศิลปะล้านนาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าหยกที่นำมาใช้สลักพระแก้วมรกตองค์นี้ น่าจะได้มาจากเมืองโมกาว รัฐกะฉิ่น ทางเหนือของพม่า ซึ่งเป็นแหล่งหยกที่ถูกค้นพบโดยพ่อค้าชาวจีนยูนนานและถือเป็นแหล่งหยกมีชื่อเสียงมากในช่วงเวลานั้น
รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า พระแก้วมรกต องค์นี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และน่าจะหมายถึง “รัตนปฏิมา”(พระพุทธรูปแก้ว) ที่ปรากฏอยู่เอกสารโบราณที่ระบุว่า ผู้นำพระสงฆ์นิกายสีหฬภิกขุ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สำนักวัดป่าแดง” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนิกายที่บริสุทธิ์กว่านิกายที่มีอยู่เดิม และเป็นนิกายที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงของล้านนา เป็นผู้สร้างขึ้น โดยเลียนแบบพุทธลักษณะมาจากพระพุทธรูปเมืองแคนดี้ ศรีลังกา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน พุทธศิลปะในนิกายสีหฬภิกขุ พ.ศ.๑๙๐๐-๒๑๐๐ เขียนโดย รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ พิมพ์โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)