“ตึกแดง” อาคารเนื่องใน “งานพระศพ” แบบดั้งเดิมมียอดปรางค์ 3 ยอด
บริเวณด้านข้างของท้องสนามหลวง หน้าวัดมหาธาตุฯ มีสถาปัตยกรรมสำคัญแห่งหนึ่ง เรียกกันทั่วไปว่า “ตึกแดง” หรือ “ตึกถาวรวัตถุ” อาคารก่ออิฐถือปูนหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อใช้เป็นอาคารประกอบในงานพระเมรุพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (เป็นอาคารตั้งพระศพเพื่อบำเพ็ญพระกุศล ก่อนที่จะเคลื่อนไปยังพระเมรุ กลางท้องสนามหลวง) แทนสิ่งก่อสร้างแบบเดิมที่นิยมสร้างขึ้นด้วยไม้ และต้องรื้อทิ้งหลังงานเสร็จสิ้น โดยปรับเปลี่ยนมาสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวร และเมื่องานเสร็จสิ้น ก็จะถูกปรับเป็นที่เล่าเรียนของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จนเมื่อมีงานพระเมรุอีกเมื่อใด ก็จะปรับปรุงกลับมาใช้ใหม่
รศ.สมคิด จิระทัศนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ โดยแบบดั้งเดิมที่ทรงออกแบบนั้น เป็นอาคารยาว และมีส่วนอาคารตรงกลางยื่นออกไปทางด้านหลัง(คล้ายอักษร T) ที่สำคัญคือ มียอดปรางค์ 3 ยอด ซึ่งทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน อันเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับพิธีบรมศพของกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งมียอดแหลม 3 ยอด และมียอดแหลมตรงกลางตั้งอยู่ด้านหลังเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างตามแบบดั้งเดิมนี้ ไม่สามารถเสร็จทันตามกำหนดงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จนทำให้ต้องย้ายไปจัดในอุโบสถวัดบวรสุทธาวาส(วังหน้า) งานก่อสร้างค้างคาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการปรับแบบเสียใหม่ ด้วยการยกเลิกยอดปรางค์ทั้งหมดและตัดส่วนทื่ยื่นออกไปทางด้านหลังทิ้งเสีย
อาคารหลังนี้สร้างเสร็จสิ้นใน พ.ศ.2458 และต่อมาได้ถูกใช้เป็นพระที่นั่งทรงธรรม งานพระเมรุสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน งานวิจัยเรื่อง “งานออกแบบสถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” โดย รศ.สมคิด จิระทัศนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร