พระนอนวัดโพธิ์ สร้างถวายพระราชชนนีของรัชกาลที่ 3?
พระพุทธไสยาส หรือ “พระนอน” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) จัดว่าเป็นพระนอนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่ โดยสร้างขึ้นตรงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด ตรงบริเวณที่เคยเป็นวังของกรมหลวงนรินทรเทวี หรือ “เจ้าครอกวัดโพธิ์” (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุ)
การก่อสร้างในครั้งนั้น เริ่มต้นด้วยการสร้างพระพุทธรูปขึ้นก่อน แล้วสร้างพระวิหารครอบในภายหลัง โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้าง
ทุกวันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างพระนอนองค์นี้ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม รศ.สมคิด จิระทัศนกุล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ได้เสนอว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนอนองค์นี้ขึ้น เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีของพระองค์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทรงสร้างมหาเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ ที่ตั้งขนาบข้างพระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ(เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑) เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระราชชนก(รัชกาลที่ ๒) และพระองค์เองไปก่อนหน้าแล้ว
รศ.สมคิด อธิบายว่า การอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระราชชนนีของพระองค์ด้วยการสร้างพระนอนนั้น อาจจะเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่งที่วัดราชโอรสาราม ฝั่งธนบุรี ขณะที่พระองค์ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระนอนองค์นี้ตั้งอยู่ในวิหารหลังพระอุโบสถ โดยที่หน้าบันของวิหารประดับปูนปั้นเป็นรูปไก่ ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงปีนักษัตร “ระกา” ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระศรีสุลาไลยประสูติ แต่การสร้างในครั้งนั้นกระทำในช่วงที่พระองค์ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ดังนั้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงอาจสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่งให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม รศ.สมคิด อธิบายอีกว่า การประดับปูนปั้นรูปไก่ที่หน้าบัน ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงพระราชชนนีนั้น น่าจะคล้ายคลึงกับรูปแบบการทำสัญลักษณ์ภาพ “พระจันทร์เต็มดวง” บนบานประตูหน้าต่างวัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี ซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระอัยกาและพระอัยกีของพระองค์ โดยสื่อความหมายถึงพระอัยกีของพระองค์ ซึ่งมีนามเดิมว่า “จันทร์” และพระอัยกา ซึ่งมีนามเดิมว่า “บุญเพ็ง” ที่แปลว่า “เต็ม”
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในหนังสือเรื่อง วิหารพระนอนวัดโพธิ์ จัดพิมพ์โดย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม