มกร “ชอบคาย” สื่อความหมาย “ผู้ให้ทุกสิ่ง”
อาจกล่าวได้ว่า สัตว์ในจินตนาการที่พบแพร่หลายมากที่สุดในศิลปกรรมโบราณของอินเดียและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ “มกร” โดยแรกเริ่มในศิลปะอินเดียนิยมนำมาประดับไว้เหนือซุ้มทางเข้าศาสนสถาน และต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมๆ กับการแพร่หลายทางศาสนาจากอินเดีย ดังเช่น ปรากฏอยู่บริเวณทับหลังเหนือซุ้มประตูของปราสาทในศิลปะเขมร
รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ว่า มกร คือ สัตว์ผสมระหว่างจระเข้กับช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ดังนั้นมกรจึงเป็นสัญลักษณ์มงคล สื่อถึง “ความอุดมสมบูรณ์” นอกจากนี้มกร ซึ่งมักจะ “คาย” สิ่งต่างๆ ออกมาจากปากเสมอ เช่น คายท่อนพวงมาลัย หรือ รูปสัตว์ต่างๆ ยังสามารถสื่อถึงการเป็น “ผู้ให้ทุกสิ่ง” ได้อีกด้วย
ดังนั้น การประดับรูปมกรไว้เหนือกรอบประตู จึงเชื่อกันว่าเป็นไปเพื่ออวยพรแด่ศาสนิกชนที่เดินทางมาสักการะให้ได้รับความอุดมสมบูรณ์ และความสุขสวัสดี ติดตัวกลับไป
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีก ได้ใน หนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส