ที่ตั้งพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ เดิมคือพระตำหนักพระเจ้าอู่ทอง?
ในระหว่างรอการก่อสร้างพระราชวังขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาบริเวณหนองโสน(บึงพระราม)นั้น พงศาวดารอธิบายว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงสร้างเวียง(เมือง)ขนาดเล็กๆ ขึ้น เพื่อเป็นเป็นที่ประทับเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
เวียงแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา เรียกว่า “เวียงเหล็ก” โดยต่อมาเมื่อการก่อสร้างพระราชวังบริเวณหนองโสนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกพระตำหนักในเวียงเหล็กขึ้นเป็นวัดชื่อว่า “พุทไธศวรรย์” ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมยกพื้นที่หรืออาคารเก่าที่กษัตริย์เคยประทับให้กลายเป็นวัด
ทุกวันนี้วัดพุทไธศวรรย์ ยังคงดำรงอยู่สืบมา โดยมีพระปรางค์หรือพระมหาธาตุเก่าแก่ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของวัด ร.อ.นพดล ปาละประเสริฐ สันนิษฐานไว้ในหนังสือ “พระราชวัง ๓ แคว้น” ว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่า ขอบเขตพื้นที่ทั้งหมดของวัดแห่งนี้ เดิมอาจคือพื้นที่ของพระราชวังในเวียงเหล็กมาก่อน โดยจุดที่ตั้งพระตำหนักของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อาจคือจุดที่ตั้งของพระปรางค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ เนื่องจากมีความเชื่อว่าบริเวณที่ประทับเป็นที่หวงห้าม ไม่ควรให้ผู้ใดมาใช้พื้นที่นั้นซ้อนทับลงไปอีก ยกเว้นแต่จะใช้ในการศาสนา ดังนั้นจึงมีการสร้างพระปรางค์บรรจุพระมหาธาตุขึ้นครอบทับตำแหน่งที่ตั้งพระตำหนักไว้