พระใหญ่ "โตไดจิ" เมืองนารา ประดิษฐานบนดอกบัว สร้างขึ้นตามพระสูตร

พระใหญ่ "โตไดจิ" เมืองนารา ประดิษฐานบนดอกบัว สร้างขึ้นตามพระสูตร

พระใหญ่ "โตไดจิ" เมืองนารา ประดิษฐานบนดอกบัว สร้างขึ้นตามพระสูตร
     วัดโตไดจิ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งคนไทยบางท่านนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโตวัดโตไดจิ
     วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีประวัติมายาวนาน  ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 1000 ปีที่แล้ว โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดในนิกาย “เคะงง” หรือที่จีนเรียกว่า “หัวเหยียน” ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักจีน ต่อมาเมื่อแพร่มาที่ญี่ปุ่น ราชสำนักญี่ปุ่นก็ได้ให้กับสนับสนุนพุทธศาสนานิกายนี้เช่นกัน และส่งเสริมให้มีการสร้างศิลปกรรม รวมทั้งตั้งสำนักศึกษาและเผยแผ่คำสอนขึ้นที่ “วัดโตไดจิ” แห่งนี้
     พุทธศาสนานิกาย “เคะงง” นี้นับถือ “พระไวโรจนพุทธเจ้า” เป็นองค์สำคัญสูงสุด มีคัมภีร์ที่สำคัญชื่อว่า “อวตังสกสูตร” ซึ่งประกอบไปด้วยพระสูตรย่อยๆ หลายพระสูตร แต่ที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญคือ “คัณฑซยูหสูตร” ที่มีเนื้อหากล่าวถึงการแสดงพลานุภาพของพระไวโรจนพุทธเจ้า โดยพระองค์ได้สำแดงให้มีจักรวาลจำนวนมากปรากฏขึ้นภายในมหาปราสาทของพระองค์ เพื่อสื่อให้เห็น “ทั้งหมดในหนึ่งเดียวและหนึ่งเดียวในทั้งหมด” เหมือนเป็นการสรุปคำสอนของนิกายนี้ที่สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันภายในโลกที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงสร้างขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ แต่ผู้ที่จะสัมผัสกับโลกนี้ได้ก็ด้วยการปฏิบัติสมาธิเท่านั้น
     แนวคิดดังกล่าวนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของพระไวโรจนพุทธเจ้าองค์ใหญ่ ประดิษฐานไว้ภายในวิหารวัดโตไดจิ ซึ่งทั้งพระพุทธรูปและวิหารองค์ดั้งเดิม ได้สร้างขึ้นในยุคที่นิกายนี้รุ่งเรือง คือราวพุทธศตวรรที่ 14 แต่กว่าจะผ่านมาจนถึงวันนี้ ทั้งพระพุทธรูปและวิหารต่างก็ชำรุดพังลง และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่หลายครั้ง
     เฉพาะองค์พระพุทธรูป เห็นได้ชัดว่าเป็นการสร้างขึ้นตามเรื่องราวในพระสูตร ที่บรรยายภาพไว้ว่าพระไวโรจนพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนมหาดอกบัวแห่งจักรภพ เป็นบัวที่มีกลีบซ้อนกันหลายพันกลีบ ในแต่ละกลีบมีพระพุทธเจ้าศากยมุนีแยกกันไปประทับสั่งสอนเวไนยสัตว์อีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายที่เกิดแก่และละสังขารไปจากโลกทั้งหลายเหล่านั้น แม้จะเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยธรรม แต่ก็เป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งขององค์พระไวโรจนพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าองค์แท้และองค์เดียว และจักรวาลอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็ล้วนอยู่ในความคุ้มครองโอบอุ้มจากแสงแห่งพระไวโรจนพุทธเจ้านั่นเอง (ไวโรจน แปลว่า ผู้ส่องสว่าง)

 
อ้างอิง
สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน (ฉบับปรับปรุงแก้ไข), พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๕๐.
“The Incised Drawing of the Triple World on the Petals of Roshana’s Throne in the Todaiji, Nara,” in Studies in South Asian Culture, edited by Janice Stargadt, vol. XIII, Leiden: E.J. Brill, 1986.
Avatamsaka Buddhism in East Asia Huayan, Kegon, Flower Ornament Buddhism Origins and Adaptation of a visual Culture, edited by Robert Gimello, Frederic Girard and Imre Hamar, Wiesbaden: Harrassowitz Verlag, 2012.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้