“เกนจิ” นิยายก้องโลกอายุ 1,000 ปี ในอดีตถูกตีตราว่าคือ “นิยายไร้ค่า”

“เกนจิ” นิยายก้องโลกอายุ 1,000 ปี ในอดีตถูกตีตราว่าคือ “นิยายไร้ค่า”

“เกนจิ” นิยายก้องโลกอายุ 1,000 ปี ในอดีตถูกตีตราว่าคือ “นิยายไร้ค่า”
     “เกนจิ โมโนกาตาริ” (ตำนานของเกนจิ) เป็นนิยายญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16  โดยนักเขียนหญิงที่ใช้นามปากกาว่า “มุราซากิ ชิคิบุ” ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนิยายที่เก่าแก่ที่สุด และได้รับการยกย่องจากบรรดานักวิชาการและนักอ่านจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังถูกนำไปถ่ายทอดเป็นงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพวาด การ์ตูน ละครและภาพยนตร์ เนื้อหาของเรื่องนี้นำเสนอชีวิตผู้คนในยุคเฮอัน ผ่านชีวิต-ความรักของตัวละครเอกที่มีชื่อว่า “ฮิคารุ เกนจิ” ซึ่งเป็นชนชั้นสูงในราชสำนัก
     นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า นิยายเรื่องนี้แพร่เข้าไปในราชสำนักญี่ปุ่นก่อน และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในช่วงที่มุราซากิ ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ ได้เข้าไปทำงานรับใช้สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก หลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตลงแล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมการอ่านที่รับมาจากจีน ซึ่งมีแนวคิดยกย่องงานเขียนประเภทประวัติศาสตร์และศาสนาว่ามีคุณค่ามากกว่างานใดๆ  ทำให้นิยายที่ตีพิมพ์ในเวลานั้นถูกค่อนขอดว่าเป็นงานที่ไม่มีคุณค่า เพราะไม่อาจพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นหรือสงบลงได้ แต่มุราซากิก็ได้ตอบโต้คำดูถูกนี้ไว้ในนิยายของเธอ ผ่านคำพูดของตัวละครไว้อย่างน่าคิด ในทำนองที่ว่าแม้งานเขียนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า แต่ที่จริงแล้วก็มักให้ความจริงเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น นิยายนี่แหละที่ช่วยเติมรายละเอียดในส่วนที่ขาดหายไปได้
     อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาคนญี่ปุ่นค่อยๆ ลดความสำคัญของแนวคิดแบบขงจื้อที่รังเกียจนิยายลง  ผู้คนจึงหันกลับมาให้ความสนใจนิยายเรื่องนี้ ซ้ำยังได้รับการยกย่องยอมรับสืบต่อมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นเพราะ นอกจากนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเกนจิที่มีสีสันแล้ว ยังสอดแทรกรายละเอียดทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และพิธีกรรมต่างๆ ในสมัยเฮอันไว้อย่างน่าสนใจด้วย โดยในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นยุคลูกหลานของเกนจิ ได้ใช้ “เมืองอุจิ” (U-JI) เมืองตากอากาศอันงดงามและเงียบสงบของชนชั้นสูง ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองเกียวโต เป็นฉากเหตุการณ์ต่างๆ  ดังนั้นปัจจุบันเมืองอุจิจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ที่ต่างเดินทางมาตามรอยสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในนิยายเรื่องนี้  รวมถึงยังนิยมเข้าชมพิพิธภัณฑ์เกนจิ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของนิยายเรื่องนี้กับเมืองอุจิ โดยพิพิธภัณฑ์ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อ ค.ศ.2008 เพื่อฉลองวาระที่นิยายเรื่องนี้มีอายุครบ 1,000 ปี
อ้างอิง
มาริสา พงษ์ธนยนตกิจ. สายใยแห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น จากวรรณกรรมคลาสสิกสมัยเฮอันสู่โลกสมัยใหม่ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน (ฉบับปรับปรุงแก้ไข), พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ศยาม, 2550.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้