วัดบวรนิเวศ คือ “ศูนย์ศึกษาตะวันตก” ในสมัยรัชกาลที่ 3
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกษุ” พระองค์ได้ประทับจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ในช่วงเวลานั้นพระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งภาษาศาสตร์ ศาสนวิทยา วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาการและศาสตร์สมัยใหม่จากตะวันตก
ไมเคิล ไรท์ นักคิดนักเขียนด้านโบราณคดี ได้เคยเสนอไว้ในบทความเรื่อง “ระบบการศึกษาและอำนาจในสังคมไทย ฝรั่งเป็น อริ หรือ อริยะ” ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าวนั้น วัดบวรนิเวศน่าจะเป็นศูนย์กลางของชนชั้นนำสยามในการศึกษาตะวันตก(ผรังคิวิทยา) ซึ่งนำโดย “วชิรญาณภิกษุ” และอาจรวมถึงเจ้าฟ้าจุฑามณี(ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)พระราชอนุชา ผู้ทรงสนพระทัยศาสตร์การต่อเรือแบบตะวันตกและทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งทรงสนพระทัยศาสตร์การแพทย์ตะวันตก
การเป็นศูนย์กลางในการศึกษาตะวันตกของวัดบวรนิเวศดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดบวรนิเวศที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือที่เรียกว่า “ภาพปริศนาธรรม ฝีมือช่างขรัวอินโข่ง” ซึ่งจากการศึกษาของทีมวิชาการสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรสได้ค้นพบว่า ภาพเหล่านี้ล้วนเป็นภาพเล่าเรื่องที่สื่อถึง “วิทยาการ-ภูมิปัญญาตะวันตก” ที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น ทั้งด้านการแพทย์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี อย่างน่าทึ่ง
อ่านรายละเอียดเรื่องจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศได้ในหนังสือเรื่อง “ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
อ่านบทความเรื่อง “ระบบการศึกษาและอำนาจในสังคมไทย ฝรั่งเป็น อริ หรือ อริยะ” ของไมเคิล ไรท์ คลิกที่นี่ https://www.matichonweekly.com/culture/article_6598