“พระบรมธาตุไชยา” ยุคแรกเริ่ม สร้างตามแบบ “ศิลปะจาม” สะท้อนภาพเส้นทางการค้าเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว

“พระบรมธาตุไชยา” ยุคแรกเริ่ม สร้างตามแบบ “ศิลปะจาม” สะท้อนภาพเส้นทางการค้าเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว

“พระบรมธาตุไชยา” ยุคแรกเริ่ม สร้างตามแบบ “ศิลปะจาม”
สะท้อนภาพเส้นทางการค้าเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว

            จากการวิจัยของ วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล รศ.เสนอ นิลเดช และอ.โชติมา จตุรวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมสร้างขึ้นในรูปแบบของศิลปะจาม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
            คณะวิจัยดังกล่าว อธิบายว่า เมื่อครั้งพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรัฐสำคัญแห่งหนึ่งคือ รัฐจามปา ซึ่งอยู่ในเขตประเทศเวียดนามในปัจจุบัน รัฐแห่งนี้เป็นรัฐการค้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเครือข่ายเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค ซึ่งคาดว่าเมืองไชยา คือเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งที่รัฐจามปาใช้เชื่อมโยงนำสินค้าข้ามคาบสมุทรมาลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย จากการศึกษาของคณะวิจัยดังกล่าวพบว่า ในเมืองไชยาและบริเวณใกล้เคียง พบหลักฐานโบราณวัตถุสถานอิทธิพลศิลปะจามหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เอกมุขลึงค์ ฐานโยนี ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่สำคัญคือพบว่า พระบรมธาตุไชยา เดิมเมื่อแรกสร้างยังน่าจะมีรูปแบบศิลปะจามด้วย
            คณะวิจัย อธิบายว่า เดิมพระบรมธาตุไชยา น่าจะสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-13 ตรงกับสมัยมิเซิน ของศิลปะจาม และต่อมาในสมัยฮัวลาย-สมัยดงเดือง ได้สร้างขึ้นเป็นอาคารซ้อนชั้นตามแบบศิลปะจามในเวลานั้น โดยแต่ละชั้นประดับด้วยซุ้มกูฑุ ต่อมาเมื่อรัฐศรีวิชัยเฟื่องฟูขึ้นแทนรัฐจามปาในพุทธศตวรรษที่ 14-15 พระบรมธาตุไชยา จึงได้รับการปรับโฉมใหม่ ด้วยการประดับสถูปจำลององค์เล็กๆ ไว้ตามชั้นหลังคา ตามแบบ “จันทิ” ซึ่งนิยมสร้างในชวากลาง (อินโดนีเซีย) โดยต่อมาภายหลังยังได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อย จนมีรูปทรงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
            การค้นพบของคณะวิจัยดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง เครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพุทธศตวรรษที่  12-15 ได้เป็นอย่างดี

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน บทความเรื่อง “การวิเคราะห์ใหม่: สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ในวารสารหน้าจั่ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 30
(ที่มาภาพ: http://radio.prd.go.th)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้