ชื่อเดิมของ “สุโขทัย” ในยุคบายน คือ “ศรีชยเกษมปุรี”?
ก่อนที่สุโขทัยจะเจริญรุ่งเรืองเป็นแคว้นสำคัญในพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น มีหลักฐานชี้ว่าสุโขทัยเคยเป็นเมืองที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเขมรมาก่อน โดยมีโบราณวัตถุสถานหลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยบายน หรือยุคที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์ ทำให้นักวิชาการบางท่านเห็นว่า เดิมสุโขทัยอาจจะเคยเป็นเมืองสำคัญทางตอนเหนือในเครือข่ายของอาณาจักรเขมรมาก่อน
อ.วรณัย พงศาชลากร อธิบายว่า ข้อความตอนหนึ่งของจารึกปราสาทพระขรรค์ เล่าว่า ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้มีการส่ง “พระชัยพุทธมหานาถ” ไปยังหัวเมืองต่างๆ จำนวน 23 เมืองทั่วอาณาจักร ปัจจุบันชื่อเมืองเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตรงกับเมืองใดในปัจจุบัน แต่นักวิชาการบางท่านได้สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งคือเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของไทยนั่นเอง ซึ่งได้พบโบราณวัตถุสถานในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จำนวนมาก เช่น “ศรีชยวัชรปุรี” คือ เพชรบุรี , “ศัมพูกปัฏฏนะ” คือ สระโกสินารายณ์ จ.ราชบุรี, “ลโวทยปุระ” คือ ลพบุรี, “ศรีชยราชปุรี” คือ ราชบุรี เป็นต้น
อ.วรณัย เสนอว่า การพบโบราณวัตถุสถานศิลปะเขมรจำนวนมากในเมืองสุโขทัย น่าจะแสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งสุโขทัยเคยเป็นเมืองสำคัญในอาณาจักรเขมรมาก่อน และน่าจะเป็นหนึ่งใน 23 เมืองที่ได้รับพระชัยพุทธมหานาถตามที่ระบุไว้ในจารึกด้วย โดยเมื่อตรวจสอบดูจากรายชื่อเมืองทั้ง 23 เมืองที่ถูกระบุอยู่ในจารึกแล้ว ชื่อเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่อาจเคยเป็นชื่อเมืองสุโขทัยในยุคบายนคือ “ศรีชยเกษมปุรี” ซึ่งมีความหมายว่า “มีความสุขใจ” ตรงกับชื่อ “สุโขทัย(ไท)” ที่แปลว่า “ใจที่มีความสุข – คนมีความสุข”
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “ศรีชยเกษมปุรี” ชื่อนามเดิมของกรุงสุโขทัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (?) โดย วรณัย พงศาชลากร คลิกที่นี่ http://bit.ly/2kf5E2q