ธรรมยุติกนิกายรับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์?
ธรรมยุติกนิกาย คือ นิกายที่วชิรญาณภิกขุ(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ทรงสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเน้นการหันกลับไปยึดถือพระไตรปิฎกและธรรมวินัย รวมทั้งยังได้สร้างธรรมเนียมการปฏิบัติใหม่ๆ ขึ้นด้วย
สุรัตน์ สกุลคู นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้เสนอไว้ในบทความเรื่อง “ใครลอกใคร: พินิจธรรมเนียมทำวัตรของพุทธ-คริสต์” ว่าธรรมยุติกนิกายที่สถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น น่าจะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาคริสต์ เนื่องจากมีธรรมเนียมและแนวคิดบางประการที่มีความคล้ายคลึงกับศาสนาคริสต์ ดังเช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้าค่ำที่วชิรญาณภิกขุทรงกำหนดขึ้นใหม่ พร้อมกับทรงนิพนธ์บทสวดขึ้นใหม่ด้วย ในเอกสารบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสได้บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “...พระองค์ทรงใช้วิธีสวดมนต์ตอนเช้าและตอนเย็นตามแบบการทำวัตรในศาสนาคริสต์ รวมถึงมีการสารภาพความผิดด้วย...”
สุรัตน์ สกุลคู อธิบายว่า บันทึกชาวต่างชาติหลายฉบับได้กล่าวถึงความสนพระทัยของวชิรญาณภิกขุต่อศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก โดยทรงได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งยังทรงเปรียบธรรมยุติกนิกายกับนิกายโปรแตสแตนท์ด้วย
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้จากบทความเรื่อง ใครลอกใคร: พินิจธรรมเนียมทำวัตรของพุทธ-คริสต์ ในวารสารมานุษยวิทยาศาสนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2563) โดยสุรัตน์ สกุลคู คลิก Link https://bit.ly/2ZA1Fm4
อ่านรายละเอียดเรื่องธรรมยุติกนิกายและศาสนาคริสต์ที่สัมพันธ์กับจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดบวรนิเวศ วัดบรมนิวาส ได้ในหนังสือ ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส