สกุล “ปุสสเทโว” “ปุสสเด็จ” แห่งนนทบุรี เชื้อสายสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สกุล “ปุสสเทโว” “ปุสสเด็จ” แห่งนนทบุรี เชื้อสายสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สกุล “ปุสสเทโว” “ปุสสเด็จ” แห่งนนทบุรี
เชื้อสายสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


            สมเด็จพระสังฆราชองค์สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์เป็นอริยสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในธรรม และทรงนิพนธ์งานต่างๆ ไว้มากมาย
            พระองค์ประสูติที่นนทบุรี อุปสมบทครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ณ วัดราชาธิวาส โดยถือเป็นศิษย์คนสำคัญของพระวชิรญาณเถระ(รัชกาลที่ 4) ต่อมาได้ตามเสด็จพระวชิรญาณเถระมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศฯ และได้รับการสถาปนาเป็น “พระอมรโมลี” โดยหลังจากที่พระวชิรญาณเถระได้เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) แล้ว ท่านก็ได้ลาสิกขาบท
            อย่างไรก็ตาม เมื่อความทราบถึงรัชกาลที่ 4 ว่าท่านได้ลาสิกขาบท พระองค์ทรงกริ้วอย่างมาก เนื่องจากมิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทใหม่อีกครั้งหนึ่งที่วัดบวรนิเวศฯ จนกระทั่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น “พระสาสนโสภณ” ซึ่งเป็นราชทินนามที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่ โดยนำนาม “สา” มาประกอบอยู่ด้านหน้า
            ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามขึ้น พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระสาสนโสภณ(สา) มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ว่ากันว่าท่านกับรัชกาลที่ 4 มีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างยิ่ง พระองค์มักเสด็จฯ ไปทรงสนทนาธรรมที่วัดราชประดิษฐฯ เป็นประจำ นอกจากนี้ในคราวก่อนเสด็จสวรรคต พระองค์ยังมีพระราชดำรัสทรงลาและขอขมาพระสงฆ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นำไปอ่านในที่ประชุมคณะสงฆ์วัดราชประดิษฐฯ ด้วย
             เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 พระสาสนโสภณ(สา) ยังคงมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสืบต่อมา โดยในวโรกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงผนวช พระสาสนโสภณ(สา) ได้รับมอบหมายเป็น “พระกรรมวาจาจารย์” ของรัชกาลที่ 5 กล่าวได้ว่าเป็นเสมือน “พระอาจารย์” ที่ทรงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2436 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2442
             อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปว่า 100 ปีแล้ว แต่เล่ากันว่ายังมีผู้สืบเชื้อสายมาจากท่าน สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถือเป็นความพิเศษประการหนึ่งของพระประวัติ
             นนทพร อยู่มั่งมี เขียนไว้ในหนังสือ “พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา  ปุสฺสเทโว)” ว่า สมเด็จพระสังฆราช(สา) น่าจะเป็นพระสังฆราชพระองค์เดียวที่ทรงเคยครองเรือนมีครอบครัวมาก่อน โดยมีเรื่องเล่าว่าในช่วงที่ท่านได้ลาสิกขาบทในสมัยต้นรัชกาลที่ 4 ท่านได้ออกไปครองเรือน มีภรรยา 2 คน ซึ่งก่อให้เกิดนามสกุลขึ้น 2 สกุลคือ “ปุสสเทโว” และ “ปุสสเด็จ” และทุกวันนี้ยังมีผู้สืบสกุลอยู่ในพื้นที่นนทบุรีอยู่

สามารถอ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในหนังสือ “พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา  ปุสฺสเทโว)” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี จัดพิมพ์โดย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้