สินไซ - ฐานที่มั่นทางวัฒนธรรมของชาวลาว-อีสาน

สินไซ - ฐานที่มั่นทางวัฒนธรรมของชาวลาว-อีสาน

สินไซ - “ฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม" ของชาวลาว-อีสาน
    วรรณกรรมเรื่องสินไซ หรือสังข์ศิลป์ชัย เป็นนิทานพื้นบ้านอีสาน-ลาว ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความไพเราะ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นวรรณกรรมชั้นยอดของลาว เป็นเรื่องราวการผจญภัยและการต่อสู้กับฝ่ายอธรรมของ 3 พี่น้อง ประกอบด้วย สังข์ สินไซและสีโห แต่ทุกวันนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ว่ามีที่มาจากไหน ใครเป็นผู้แต่งและแต่งขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่มีหลักฐานว่ามีมาแล้วอย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งเป็นฉบับที่เชื่อกันว่าท้าวปางคำเป็นผู้เรียบเรียงขึ้นเป็นคำกลอนลาว
    นิทานเรื่องนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะชาวบ้านที่อยู่ในแถบภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย รวมไปถึงในประเทศลาว ต่างรู้จักนิทานเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากได้มีโอกาสรับรู้นิทานเรื่องนี้จากการได้ฟังในงานศพ และชมเป็นมหรสพตามงานบุญต่างๆ ในรูปของ หมอลำ หนังบักตื้อหรือหนังตะลุงอีสาน
    อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะเริ่มห่างเหินจากนิทานเรื่องนี้  ทำให้นักอนุรักษ์วรรณกรรมโบราณและรักวรรณกรรมเรื่องสินไซ ทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว ต่างพยายามผลักดันนำเรื่องสินไซมาให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้  เพราะตระหนักว่า “สินไซ คือฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม” เนื่องจากเป็นนิทานที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นลาวและสอนจริยธรรมให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี รูปแบบของการเรียนรู้ มีทั้งการฝึกหัดอ่านกลอนลำ หัดเชิดหนังตะลุง รวมทั้งการเรียนรู้ผ่านจากจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านนอกของสิมหลายแห่งในภาคอีสาน 

สำหรับผู้สนใจเรื่องราวและภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสินไซที่วาดไว้บนผนังของสิมหลายแห่งในภาคอีสาน สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ จิตรกรรมเล่าเรื่อง วรรณกรรมอมตะ ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส

 

เทศบาลขอนแก่น นำ “สีโห” หนึ่งในตัวละครเอกจากเรื่องสินไซ มาประดับยอดเสาไฟ ตามนโยบายกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสินไซ คล้ายๆ แนวคิดของท่านพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำชื่อตัวละครเอกในเรื่องสินไซ ไปตั้งชื่อถนนในหมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นในคนรุ่นใหม่สงสัย และหวังให้ไปค้นคว้าหาคำตอบ ซึ่งจะช่วยให้เรื่องสินไซคงอยู่ในความรับรู้ของคนรุ่นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ (อ้างอิง งานสัมมนา “สินไซเดินดง: จากยุคธรรมิกราชา ถึงยุคโลกาภิวัตร” มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕)
สินไซและสีโหปราบยักษ์ จิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
สีโหปราบยักษ์ จิตรกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม อ.บ้านไผ่จ.ขอนแก่น
สีโหและสังข์ปราบยักษ์ จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น

 



































































Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้