พบฐานซุ้มประตู “วังกลาง” ใต้ตึกแถว 100 ปี ถนนหน้าพระลาน
ริมถนนหน้าพระลาน ข้างๆ มหาวิทยาลัยศิลปากรมีตึกแถวเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 (สร้างราว พ.ศ.2452) อายุ 100 ปีอยู่ชุดหนึ่ง โดยสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรม “นีโอคลาสสิค” ซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรปในช่วงกลางคริสตวรรษที่ 19
ตึกแถวชุดนี้ถือเป็นอาคารพาณิชย์ ริมถนนยุคแรกๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวทางการค้าและการขยายตัวด้านการคมนาคมทางบก โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวังกลาง ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย (ต่อมาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นศักดิพลเสพ) และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ แต่ต่อมาได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการกรมช่างสิบหมู่ (ต่อมาพัฒนามาเป็นกรมศิลปากร) การก่อสร้างครั้งนั้นได้ปรับเกลี่ยกำแพงของวังกลางทิ้งเสีย แล้วสร้างตึกแถวชุดนี้ขึ้นทับแนวกำแพงวัง
ใน พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ดูแลตึกแถวชุดนี้ได้เข้าปรับปรุง อนุรักษ์และเสริมความมั่นคงอาคาร จนกระทั่งปัจจุบันได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ที่น่าสนใจคือ ในการเข้าดำเนินการครั้งนี้ได้มีการขุดตรวจทางโบราณคดีที่ใต้พื้นอาคารด้วย ผลจากการขุดตรวจได้พบหลักฐานที่น่าสนใจจำนวนหนึ่ง คือ พบฐานก่ออิฐ ซึ่งคาดว่าคือฐานซุ้มประตูวัง และพบการปูแผ่นหินแกรนิต อิฐ และหินทรายสีชมพูขนาดใหญ่ คาดว่าเป็นพื้นที่ใช้งานภายในวัง นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ชิง อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25จำนวนหนึ่งด้วย
ภาพเก่าในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 จะเห็นตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน คูหาริมขวาสุดเป็นร้าน "Cook shop" ขายอาหารฝรั่งสไตล์จีน นอกจากนี้ยังเห็นพระตำหนักของวังกลางตั้งอยู่ด้านหลัง ก่อนที่จะถูกรื้อลงกลายเป็นส่วนหนึ่งของม.ศิลปากรและกรมศิลปากรในปัจจุบัน | ตึกแถว หน้าพระลานในปัจจุบัน หลังจากอนุรักษ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว |
ฐานก่ออิฐ อาจเป็นฐานซุ้มประตู | การปูหินแกรนิต หินทราย และอิฐ |
เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิิง |