จิตรกรรมวัดภูมินทร์ "ภาพแฝงนัย" ปมในใจ เจ้าเมืองน่าน
ภายในวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเจ้าหลวงเมืองน่านในขณะนั้น เป็นผู้ให้วาดขึ้น ภาพเหล่านี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางที่โดดเด่น สวยงามจับใจผู้ที่ได้ชม จนได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรรม "Masterpiece" ของเมืองไทย ภาพส่วนใหญ่วาดขึ้นตามชาดกเรื่อง "คันทนกุมาร" โดยมีภาพบุคคลขนาดใหญ่เป็นรูปชายหญิงชาวเมืองน่าน ถูกวาดแทรกไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งภาพที่รู้จักกันดีคือภาพปู่ม่านย่าม่าน หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า "ภาพกระซิบรัก"
สำหรับชาดกเรื่องคันทนกุมารนี้ เป็นเรื่องราวที่เล่าถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเกิดมาเป็นคันทนกุมาร เป็นบุตรของพระอินทร์ แต่อาภัพต้องมาอยู่กับแม่เพียงลำพัง เมื่อเติบโตขึ้นได้ออกผจญภัยต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการ
อ.สุรชัย จงจิตงาม เล่าไว้ในหนังสือ "ล้านนา Art&Culture" ว่า ศ.เดวิด เค วัยอาจ ได้เสนอข้อคิดเห็นถึงเหตุที่เจ้าหลวงเมืองน่านหยิบเรื่อง "คันทนกุมาร" นี้ขึ้นมาวาดไว้ว่า อาจจะเกิดจากเรื่องราวของคันทนกุมาร สอดรับต้องตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของเมืองน่าน ซึ่งในขณะนั้นตกเป็นประเทศราชของสยาม และตกอยู่ในสภาวการณ์ยากลำบากที่ถูกฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนที่เคยอยู่ในอารักขาของเมืองน่านไป โดยที่สยามไม่สามารถช่วยเหลือได้ เจ้าเมืองน่านจึงอาจเปรียบตนเองเหมือนกับ "ลูกกำพร้า" เช่นเดียวกับ "คันทนกุมาร" ที่อาภัพไม่มีใครช่วยเหลือ ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ด้วยตนเอง ดังนั้นการเลือกเรื่อง "คันทนกุมาร" มาวาดไว้ จึงอาจเป็นการสะท้อน "ปมในใจ" ของเจ้าเมืองน่านในขณะนั้นก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางวิชาการแต่อย่างใด