ชื่อ “สมุย” มาจากภาษาจีนไหหลำ แปลว่า "หอยใหญ่" ?
สมุยคือเกาะกลางอ่าวไทย ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย ที่นี่ในอดีตเคยเป็นชุมชนที่พักพิงของชาวจีนอพยพ โดยเฉพาะจีนจากเกาะไหหลำ ดังบันทึกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ที่ได้เคยเสด็จประพาสเกาะสมุย เมื่อ พ.ศ. 2427 อธิบายไว้ว่า ในจำนวนประชากรของเกาะแห่งนี้ที่มีราว 1,600 คน มีจำนวนคนจีนไหหลำอาศัยอยู่มากถึง 600 คนทีเดียว
การที่มีคนจีนไหหลำอาศัยอยู่มากเช่นนี้ ทำให้เคยมีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า "สมุย" อาจมาจากภาษาจีนไหหลำที่ว่า “เซ่าหมวย” ซึ่งแปลว่า “ด่านแรก” หรืออาจมาจากคำว่า “ซาวบ่วย” ซึ่งแปลว่า “หาดสวย” นอกจากนี้ยังมีบางเสนอว่าอาจมาจากภาษาทมิฬว่า “สมอย” ซึ่งแปลว่า “คลื่นลม”
แต่ล่าสุด อ.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ว่า คำว่าสมุย อาจมาจากคำว่า “ซูเป้ย” ซึ่งในภาษาจีนไหหลำออกเสียงว่า “ซาวโบ๋ย” แปลว่า “หอยหนา” หรือ “หอยใหญ่” คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในป้ายศาลเจ้าไหหลำเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าทอน (ป้ายชิ้นนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔) โดยป้ายชิ้นนี้เขียนชื่อศาลเจ้าแห่งนี้ว่า “ซูเป้ยเมี่ยว” แปลได้ว่า “ศาลเจ้าหอยหนา” หรือ “ศาลเจ้าหอยใหญ่”
อ.สุรสิทธิ์ อธิบายว่า คำว่า “ซูเป้ย” หรือ “ซาวโบ๋ย” ในสำเนียงจีนไหหลำ ซึ่งแปลว่า “หอยหนา” อาจเป็นคำเรียกชื่อเกาะของชาวไหหลำ และต่อมาเพี้ยนเป็น "สมุย" เนื่องจากเห็นว่าเกาะแห่งนี้มีทรัพยากรทางทะเลมากมาย โดยเฉพาะ “หอย” ซึ่งมีอยู่มากมายรอบเกาะ ตรงกับบันทึกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษี ที่ทรงบันทึกไว้ว่า ที่เกาะสมุยมีหอยเป็นจำนวนมาก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “เกาะสมุย แดนหอยใหญ่ ของชาวไหหลำ” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555