ดัมบุลละ วัดถ้ำแห่งลังกา

ดัมบุลละ วัดถ้ำแห่งลังกา

“ดัมบุลละ” วัดถ้ำแห่งลังกา 
           “ดัมบุลลา” เป็นชื่อของพุทธสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่บนเขา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ๑,๑๑๘ ฟุต ทั้งยังเป็นตำแหน่งที่เกือบจะอยู่กึ่งกลางของเกาะ และอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองหลวงเก่าที่สำคัญ ๓ แห่ง คือ เมืองอนุราธปุระ (พุทธศตวรรษที่ ๔ - ๑๖) เมืองโปลนนารุวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘) และเมืองแคนดี้ (พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔) อีกด้วย
         หลังจากที่นักโบราณคดีได้สำรวจและขุดค้นในบริเวณนี้แล้วได้พบว่า ที่นี่รวมทั้งบริเวณโดยรอบมีร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์” แล้ว (สมัยที่ยังไม่มีจารึกและยังไม่มีการนับถือศาสนา) นอกจากนี้ยังได้พบแหล่งฝังศพที่มีมาแต่ยุคหินสืบเนื่องไปถึงต้นสมัยประวัติศาสตร์อีกด้วย
         ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเริ่มแพร่มาจากอินเดีย ที่แห่งนี้คงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพุทธสถาน โดยได้มีการขยายเพิงผาให้เป็นคูหา เพื่อใช้เป็นวิหารและที่พักของพระสงฆ์รวมถึงผู้อุปถัมภ์ ดังที่ปรากฏรายชื่อผู้อุปถัมภ์การสร้างที่พักเหล่านั้นอยู่ในจารึกบริเวณหน้าถ้ำ ต่อมาเมื่อจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น จึงมีการสร้างคูหาเพิ่มเติมขึ้นอีก
         พุทธสถานแห่งนี้ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของลังกา ดังนั้นจึงได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ลังกาหลายพระองค์ ทำให้มีการสร้างเสริมวิหารในถ้ำต่างๆ ขึ้นเพิ่มเติมเรื่อยมา ในถ้ำต่างๆ เหล่านี้ได้พบงานพุทธศิลป์จำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูปประทับนั่ง นอน ยืน รวมทั้งยังมีเทวรูป ที่สำคัญคือมีงานจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามยิ่ง
         นักประวัติศาสตร์ศิลปะคาดว่างานพุทธศิลป์เหล่านี้น่าจะส่งอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจให้แก่พุทธศิลป์ในประเทศไทยไม่มากก็น้อย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาโดยละเอียดต่อไป

          ปัจจุบันถ้ำที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าชมมี ๕ แห่งคือ

 -   ถ้ำหมายเลข ๑ ชื่อ เทวราชา ชื่อนี้คงตั้งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่เป็นประธาน

 - ถ้ำหมายเลข ๒ ชื่อ มหาราชา เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญที่สุด ภายในมีประติมากรรมจำนวนมาก นอกจากพระพุทธรูปประทับนั่ง นอน และยืน รวมทั้งพระโพธิสัตว์แล้ว ยังประดิษฐานรูปเหมือนของพระเจ้า Valagamba หรือ Vattagamini Abhaya ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่อุปถัมภ์พุทธสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีสถูปขนาดเล็กอีกด้วย ส่วนที่ผนังและเพดานมีการวาดภาพจิตรกรรม เป็นภาพเล่าเรื่องการประดิษฐานพุทธศาสนาในศรีลังกา พุทธประวัติ และยังมีภาพเทพเจ้า เช่น พระขันทกุมารและพระคเณศอีกด้วย นอกเหนือจากนี้แล้ว ภายในถ้ำแห่งนี้ยังมี “หม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งรองรับน้ำที่หยดลงมาจากเพดาน โดยน้ำในภาชนะนี้ไม่เคยเหือดแห้งเลย

 - ถ้ำหมายเลข ๓ ชื่อ มหาอลุต (Maha Alut) สร้างโดยพระเจ้า Kirti Sri Rajasinghe เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ภายในประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ (๓๐ ฟุต) รวมทั้งพระพุทธรูปประทับนั่ง ๑๕ องค์ และยืนอีก ๔๒ องค์ และมีรูปเหมือนของพระเจ้า Kirti Sri Rajasinghe ด้วย

 -  ถ้ำหมายเลข ๔ ชื่อ ภัคชิมา (Pacchima) เป็นถ้ำที่มีขนาดเล็ก

 - ถ้ำหมายเลข ๕ ชื่อ เทวานะ อลุต (Devana Alut) สร้างขึ้นเป็นถ้ำสุดท้าย แต่ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เดิมเป็นที่เก็บของ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถ้ำวิหารก็กลายเป็นที่ประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ 
 

บรรยายภาพ
หมายเหตุ: ขอขอบคุณ คุณอรุณศักดิ์ กิ่งมณี แห่งกรมศิลปากร ที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพประกอบ

ภาพที่ ๑ บริเวณด้านหน้า ก่อนถึงถ้ำวิหาร

ภาพที่ ๒ ถ้ำวิหารอยู่ใต้เพิงหิน มีการสร้างทางเข้าประกบด้านหน้าไว้ในสมัยหลัง

ภาพที่ ๓ ภายในถ้ำหมายเลข ๒ ซึ่งเป็นถ้ำวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความกว้าง ๗๕ ฟุต และลึก ๑๒๒ ฟุต

ภาพที่ ๔ จิตรกรรมส่วนใหญ่ได้รับการซ่อมจนเกือบจะเป็นการวาดขึ้นใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕
เรียกว่า ศิลปะแคนดี้ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ภาพแบน พระพุทธเจ้ามีวรรณะสีทอง ล้อมรอบด้วยฉัพพรรณรังสี ครองจีวรเป็นริ้วคลื่น พื้นสีแดง เช่น ภาพพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ที่วาดไว้บนเพดานถ้ำหมายเลข ๒

ภาพที่ ๕ จิตรกรรมในถ้ำหมายเลข ๒ ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ ๓ เป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงเดินจงกรมบนยอดเขาเป็นเวลานาน ๗ วัน ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายไว้ว่าเป็นลักษณะที่แปลก เพราะคัมภีร์ที่เล่าพุทธประวัติในตอนนี้ที่แต่งในศรีลังกา ไม่ได้กล่าวถึงการเดินจงกรมบนยอดภูเขาไว้เลย แต่รายละเอียดแบบนี้กลับกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในประเทศไทย เช่น ปฐมสมโพธิกถา ดังนั้น ภาพลักษณะนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าขบคิดต่อไป ถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะแคนดี้ตอนปลายกับศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์กันก็เป็นได้

ภาพที่ ๖ ภาพวาดศิลปะแคนดี้ภายในถ้ำหมายเลข ๒ เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ คือหลังจากที่ทรงม้าออกจากเมือง และเมื่อข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี จากนั้นทรงแลกพระภูษากับเสื้อผ้าย้อมฝาดจากเทวดาที่แปลงมาเป็นพราน

ภาพที่ ๗ ร่องรอยของจิตรกรรมสมัยแรกๆ ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ได้วาดไว้เฉพาะในถ้ำ แต่ยังวาดไว้ที่ด้านนอกของถ้ำด้วย

ภาพที่ ๘ พระพุทธรูปประทับนั่งในถ้ำหมายเลข ๓ จะเห็นซุ้มด้านหลังพระพุทธรูป มีลักษณะที่โดดเด่นเป็นแบบเฉพาะของลังกา คือ มีตัว “มกร” ประดับไว้ที่ปลายกรอบหน้าบัน ซึ่งมีคำเฉพาะ เรียกว่า “มกรโตรณะ” นักประวัติศาสตร์ศิลปะพบว่า ในศิลปะสุโขทัยนิยมสร้างเลียนแบบ "ซุ้มแบบลังกา" เช่นนี้ไว้หลายแห่ง

ภาพที่ ๙ ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งในศรีลังกานิยมเรียกว่า “นารถ” ประดิษฐานอยู่ในถ้ำหมายเลข ๒

ภาพที่ ๑๐ ประติมากรรมรูปเหมือนของพระเจ้า Valagamba

ภาพที่ ๑๑ ประติมากรรมรูปเหมือนของพระเจ้า Kirti Sri Rajasinghe

ภาพที่ ๑๒ จิตรกรรมภาพพระคเณศ ภายในถ้ำหมายเลข ๒


อ้างอิง
- Anuradha Seneviratna. Golden Rock Temple of Dambulla UNESCO-SRI LANKA Cultural Triangle Project Central Cultural Fund Ministry of Cultural Affairs Sri Lanka, 1983.
- Senake Bandaranayake. “Dambulla The Golden Mountain temple” in The Cultural Triangle of Sri Lanka, 4th print UNESCO Publishing/CCF, 2002.

 

ภาพที่ ๑
ภาพที่ ๒
ภาพที่ ๓

ภาพที่ ๔

ภาพที่ ๕

ภาพที่ ๖
ภาพที่ ๗
ภาพที่ ๘
ภาพที่ ๙

ภาพที่ ๑๐
ภาพที่ ๑๑
ภาพที่ ๑๒

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้