ปริศนาภาพหลังบานหน้าต่าง วัดพระแก้ว วังหน้า พระเทวริงค์ คือใคร?
จากการศึกษาเรื่องภาพเทพฮินดูหลังบานประตู หน้าต่างของวัดสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดีแห่งกรมศิลปากร พบประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ ช่างโบราณน่าจะวาดภาพขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "สมุดตำราภาพโบราณ" ซึ่งได้รวบรวมภาพลายเส้นรูปเทพต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก และน่าจะถือเป็น"คัมภีร์" สำคัญของช่างในยุคนั้น
ตัวอย่างภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่ง คือ ภาพบุรุษ ร่างสูงใหญ่ ในมือทั้งสองกำร่างมนุษย์ไว้ ซึ่งได้รับการวาดขึ้นอย่างงดงามหลังบานหน้าต่างอุโบสถวัดพระแก้ว วังหน้า ภาพนี้เดิมเป็นที่สงสัยกันว่าหมายถึงเทพองค์ใดกันแน่ ต่อมาเมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบกับสมุดตำราภาพ ทำให้พบว่ามีความคล้ายคลึงกับภาพในสมุดตำราภาพที่เขียนชื่อภาพกำกับไว้ว่า "พระเทวริงค์" ทำให้ทราบได้ว่าภาพหลังบานหน้าต่างที่วัดพระแก้ววังหน้าภาพนี้ก็คือ พระเทวริงค์ นั่นเอง
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า "พระเทวริงค์" คือใคร แต่ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประติมานวิทยาเอเชีย ได้เสนอว่า รูปนี้มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับภาพ "กุลกุมาร" ที่พบในลังกา เรื่องกุลกุมารนี้มีตำนานเล่าว่า เขาคือ "เจ้าชายยักษ์ดำ" เคยเป็นเจ้าชายในอาณาจักรแคนดี มีอำนาจเหาะเหินได้ ต่อมาวันหนึ่งระหว่างที่กำลังเหาะอยู่ เกิดเห็นหญิงงามทำให้หลงรัก เป็นเหตุให้อำนาจของตนเสื่อมและต้องตกลงกระแทกพื้นตาย กลายเป็นยักษ์ที่อาฆาตแค้นผู้หญิง "กุลกุมาร" นี้ได้รับการนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของลังกา และคาดว่าต่อมาคงมีผู้นำความเชื่อนี้เข้ามาในสยาม แต่ก็จำกัดอยู่ในวงแคบๆ โดยได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น "อารักษ์" เช่นเดียวกับเทพฮินดูองค์อื่นๆ ที่ถูกวาดไว้รอบพระอุโบสถ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกได้ในหนังสือ "เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน" โดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
ภาพ "พระเทวริงค์" ในสมุดตำราภาพ | พระเทวริงค์ หลังบานหน้าต่าง วัดพระแก้ววังหน้า |