มณฑปวัดศรีชุม จำลอง “พุทธคยา”

มณฑปวัดศรีชุม จำลอง “พุทธคยา”

มณฑปวัดศรีชุม จำลอง “พุทธคยา” ?

             อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักปราชญ์ด้านโบราณคดีไทย เคยมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมณฑปวัดศรีชุม จ.สุโขทัยไว้อย่างน่าสนใจว่า มณฑปวัดศรีชุมอาจสร้างขึ้นเพื่อจำลองเจดีย์ “พุทธคยา” ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ของพระพุทธเจ้าและยังเป็นสังเวชนียสถานสำคัญมาอย่างยาวนาน  แต่สร้างไม่เสร็จ
             เหตุผลตามข้อเสนอนี้ มีอยู่ว่า 
             ๑. คำว่า “ศรี” ในชื่อวัด น่าจะหมายถึง “ต้นโพธิ์”  โดยทุกวันนี้ตามท้องถิ่นหลายแห่งยังคงใช้คำว่า “ศรี” เพื่อสื่อถึงต้นโพธิ์อยู่ ฉะนั้นคำว่า “ศรีชุม” ก็หมายถึง “ต้นโพธิ์ที่มารวม(ชุมนุม)กันอยู่” นั่นเอง  ซึ่งการมีนามวัดเช่นนี้ น่าจะส่อถึงความสำคัญของวัด ที่เกี่ยวข้องกับต้นโพธิ์ อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธองค์ทรงประทับในเวลาตรัสรู้ โดยน่าจะมีการปลูกต้นโพธิ์ไว้ภายในวัด ซึ่งอาจเป็นหน่อที่อัญเชิญมาจากต้นโพธิ์สำคัญของอินเดีย หรือลังกา (ซึ่งอาจมีการปลูกต้นโพธิ์ไว้ที่ด้านหลังของมณฑป ตามแบบวิหารพุทธคยา โดยพระพุทธรูปที่อยู่ภายใน ก็จะสื่อถึงพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ในห้วงเวลาตรัสรู้นั่นเอง-สรุปเพิ่มเติมโดย กอง บก.)
              ๒. ตำแหน่งที่ตั้งของวัดศรีชุม ตั้งอยู่ทาง “ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ” ของเมือง ซึ่งเป็นการกำหนดทิศที่ตั้งให้ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งจริงของ “พุทธคยา” ประเทศอินเดีย  ซึ่งตั้งอยู่ทาง “ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ” ของไทย  การกำหนดทิศให้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเช่นนี้ ยังตรงกับตำแหน่งที่ตั้งวัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่ ซึ่งสร้างจำลองเจดีย์พุทธคยาและตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเช่นเดียวกัน
              ข้อเสนอที่น่าสนใจของ อ.พิเศษนี้ หากนำไปเทียบเคียงกับข้อเสนอของ ปิแอร์ ปิชาร์ด ที่เคยเสนอว่า ส่วนบนของมณฑปวัดศรีชุม ซึ่งเดิมอาจตั้งใจสร้างขึ้นเป็นอาคารสูงซ้อนชั้น คล้ายเจดีย์กู่กุด จ.ลำพูน ก็จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทั้งสองนี้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างน่าสนใจ
              เนื่องจากเคยมีผู้เสนอว่า เจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นแบบเจดีย์กู่กุด อาจเป็นเจดีย์ที่เลียนแบบหรือจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยาองค์ดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการบูรณะในเวลาต่อมาจนมีเป็นรูปลักษณ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ข้อสันนิษฐานที่ว่า มณฑปวัดศรีชุม แท้จริงแล้วก็คือการจำลอง “วิหารพุทธคยา” ก็ดูหนักแน่นอย่างยิ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้