ทวารวดี จำลอง “สถานที่ปฐมเทศนา” ไว้ที่นครปฐม

ทวารวดี จำลอง “สถานที่ปฐมเทศนา” ไว้ที่นครปฐม

ทวารวดี จำลอง “สถานที่ปฐมเทศนา” ไว้ที่นครปฐม
                เดิมมีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่า โบราณสถานวัดพระเมรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี อาจสร้างขึ้นโดยเลียนแบบมาจาก “โสมปุระ” มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งสำคัญ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยปาละ
                อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า โบราณสถานวัดพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานเท่านั้น  น่าจะสร้างขึ้นเลียนแบบหรือจำลองแบบมาจาก “มูลคันธกุฎี” เมืองสารนาถ อินเดีย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เชื่อว่าสร้างขึ้นบนจุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยคุปตะ โดยปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงส่วนฐาน แต่คาดว่าเดิมคงมีส่วนยอดเป็นแบบศิขระ คล้ายกับยอดของพุทธคยา
                รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ให้เหตุผลต่อข้อสันนิษฐานข้างต้นไว้ สรุปได้ดังนี้
                1 โบราณสถานวัดพระเมรุ มีแผนผังที่มีมุขสั้นๆ ยื่นออกไปทั้ง 4 ด้าน คล้ายคลึงกับมูลคันธกุฎีมากกว่าที่โสมปุระ ซึ่งมีมุขทั้ง 4 ด้านยื่นยาวออกไปมากกว่า จนมีแผนผังแบบกากบาทที่ชัดเจนกว่า
                2 ที่มุขทั้ง 4 ด้านของโบราณสถานวัดพระเมรุ เดิมน่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนา รวมจำนวน 4 องค์ (พระพุทธรูปเหล่านี้ปัจจุบัน ประดิษฐานกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ  นั่นคือ โบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ , ลานพระปฐมเจดีย์, พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑ์ พระนคร) การประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทนี้ เป็นคติที่เหมือนกับที่มูลคันธกุฎี ซึ่งมีหลักฐานว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนาเช่นเดียวกัน
                ดังนั้นจึงคาดว่า ในสมัยทวารวดีน่าจะมีคติที่ให้ความสำคัญต่อ “การปฐมเทศนา” เป็นพิเศษ ซึ่งสอดรับกับการพบ “ธรรมจักร+กวางหมอบ” โบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่สื่อถึงการปฐมเทศนาจำนวนหลายชิ้น ที่พบทั้งในนครปฐมและเมืองโบราณใกล้เคียง ซึ่งน่าจะมีการศึกษาต่อไปว่า เหตุใดทวารวดีจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปฐมเทศนา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้