ความสับสนเรื่อง “ต้นสาละ” ไม้ในพุทธประวัติ
ต้นสาละคือไม้ในพุทธประวัติที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ ๒ ตอน นั่นคือ ในคราวที่พระนางสิริมหามายามีพระประสูติการเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางได้ประทับอยู่ใต้ต้นสาละ และเมื่อคราวเสด็จปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ใต้ต้นสาละเช่นเดียวกับตอนประสูติ
บุญรอด อินทวารี อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554 ว่า ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในแถบอินเดียเหนือ สูงราว 20-30 เมตร ลักษณะคล้ายคลึงกับต้นรัง มีดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลเป็นเปลือกแข็ง มีปีกรูปใบพาย 5 ปีก ห้อยลง ต้นสาละนี้ไม่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงเจริญเติบโตได้ไม่ดีในเมืองไทย บางกลุ่มเชื่อว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีการบูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ในเนปาลมีการนำไม้สาละมาสร้างเทวาลัยมณฑปไม้ อันเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงว่า“กาฐมาณฑุ”
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีความสับสนปนเปกับต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่เรียกชื่อคล้ายกันว่า “สาละลังกา” หรือ “ต้นลูกปืนใหญ่” ต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นที่มีลักษณะเด่นตรงดอกช่อใหญ่ ออกมาจากลำต้น ปลายโน้มลง ผลเป็นลูกกลมใหญ่คล้ายลูกปืนใหญ่ บุญรอด อินทวารี อธิบายว่าต้นไม้ชนิดนี้เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ ต่อมาได้มีผู้นำมาปลูกในลังกา และได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วลังกา โดยคนลังกาเรียกว่า “ซาล” หรือสาละ เช่นเดียวกัน คนลังกาเชื่อว่าดอกของต้นไม้ชนิดนี้เปรียบได้กับที่แท่นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในคราวที่เสด็จปรินิพพาน ส่วนเกสรคล้ายกับสาวกที่ล้อมเฝ้าแหนอยู่ นอกจากนี้คนลังกายังนิยมนำมาบูชาพระด้วย เข้าใจว่าต้นสาละลังกานี้คงได้ถูกนำมาปลูกในเมืองไทยราว 50 ปีก่อน และแพร่หลายไปทั่ว และด้วยชื่อเรียกที่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ได้ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554