พบกรุเก่าแก่ขนาดใหญ่ในจีน บรรจุพระบรมธาตุจากอินเดีย
เมื่อ พ.ศ.2551 ทางการจีนได้มีการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญแห่งปี นั่นคือ การพบกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียร ซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้ดิน บริเวณ Temple of Gratitude เมืองนานจิง
กรุพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญ ขณะทำการปรับปรุงตกแต่งวัด โดยพบว่าประดิษฐานอยู่ใต้ดินลึกราว 4 เมตร คาดว่าเดิมคงมีเจดีย์ครอบทับอยู่ แต่ต่อมาพังทลายและถูกทิ้งร้างไป นักโบราณคดีจีนพบว่ากรุแห่งนี้ทำขึ้นโดยใช้หิน 4 แผ่นประกอบเข้าเป็นห้องสี่เหลี่ยมมีแผ่นหินปิดด้านบน ภายในห้องนี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในภาชนะต่างๆ ทั้งสิ้น 7 ชั้น ประกอบด้วย กล่องเหล็กขนาดใหญ่ เจดีย์ทำจากไม้จันทน์มีภาพพุทธประวัติประดับอยู่ โลงศพจำลองทำด้วยโลหะเงิน โลงศพจำลองทำด้วยทอง ผอบทำด้วยโลหะเงิน 2 ชิ้น และผอบแก้วผลึกใสบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นชั้นสุดท้าย ทั้งหมดวางซ้อนลดหลั่นกันจากใหญ่ไปหาเล็ก ที่น่าสนใจคือมีการห่อพระเจดีย์ไม้จันทน์ไว้ด้วยผ้าไหมสีดำ ซึ่งคาดว่าเป็นการถนอมรักษาไว้ให้มีอายุอยู่ยืนยาว นักโบราณคดีอธิบายว่าถือเป็นกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา
ที่สำคัญคือมีการพบจารึกที่ผนังห้องกรุ และจารึกที่ฐานของโลงศพจำลองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างไว้ด้วย
ข้อความจากในจารึกสรุปได้ว่า กรุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว ในบริเวณวัดที่เดิมชื่อว่า Changgan บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียร โดยพระสงฆ์อินเดียนามว่า Shi hu เป็นผู้อัญเชิญมาจากอินเดีย ซึ่งอาจเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกโปรดฯ ให้นำไปประดิษฐานยังบ้านเมืองต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา
การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พบในจีนครั้งนี้ ทำให้เห็นระบบการบรรจุที่คล้ายคลึงกับที่พบในเมืองโบราณต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย นั่นคือนิยมบรรจุอยู่ในภาชนะ 7 ชั้น(ซึ่งมักทำจากไม้ โลหะ ศิลาหรือหินสีใส) ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่า อาจเปรียบได้กับเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งล้อมพระบรมสารีริกธาตุ อันหมายถึงศูนย์กลางแห่งจักรวาล นอกจากนี้บางท่านยังตั้งข้อสังเกตว่าภาชนะชั้นในสุดมักทำจากหินสีใส(แก้ว) ซึ่งน่าที่จะค้นหาสาเหตุและความหมายที่แน่ชัดต่อไป
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในสารคดีซึ่งผลิตโดย CCTV4 คลิกได้ที่นี่http://news.cntv.cn/program/guobaodangan/20110524/111032.shtml