"ปั๋น" จิตรกร "บ้านฮ่อ" เชียงใหม่ ที่วัดบุพพาราม

"ปั๋น" จิตรกร "บ้านฮ่อ" เชียงใหม่ ที่วัดบุพพาราม

“ปั๋น” จิตรกร “บ้านฮ่อ” เชียงใหม่ ที่วัดบุพพาราม 
             วัดบุพพาราม เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และได้รับการบูรณะอยู่เรื่อยๆ เช่น ภายหลังจากพระเจ้ากาวิโลรสรื้อหอในคุ้มหลวงแล้ว ก็โปรดฯ ให้เอาเสามาทำเป็นเสาของวิหารหลังใหญ่ 
             ภายในวิหารหลังใหญ่นี้มีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งคาดว่าวาดไว้ราว ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว โดยวาดไว้เหนือระดับหน้าต่าง แบ่งให้ฝั่งขวาของพระพุทธรูปประธานเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนฝั่งซ้ายเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก รูปแบบของภาพจัดได้ว่าเป็น “แบบกรุงเทพฯ” แต่รายละเอียดหลายอย่างก็แสดงความเป็นท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัดก็คือรูปแบบการแต่งกายของตัวละคร โดยเฉพาะผู้หญิงมักแต่งกายแบบหญิงล้านนา คือนุ่งซิ่น เกล้าผม นอกจากนี้ยังมีคำบรรยายภาพที่เขียนด้วยตัวอักษรล้านนาอีกด้วย นับว่าภาพเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ในอดีตได้เป็นอย่างดี
             ที่น่าสนใจคือ ผู้วาดได้ "เซ็น" ชื่อตนเองกำกับไว้หลายแห่ง ทำให้รู้ว่าเป็นผลงานของ “ปั๋น ช่างบ้านฮ่อ”  โดยได้รับการสนับสนุนจาก “พ่อเถิ้ม บ้านฮ่อ” ซึ่ง “บ้านฮ่อ” ก็คือชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกชุมชนย่านถนนช้างคลาน (ใกล้ๆ ไนท์บาร์ซาร์) ถิ่นอาศัยของชาวจีนฮ่อที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๘ 
              การ "เซ็นชื่อ" ของผู้วาด กำกับไว้บนภาพของช่างวาดอย่างเช่น "ช่างปั๋น" นี้ แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์แบบใหม่ของสังคมไทยในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งผิดไปจากเดิมที่จะไม่มีการระบุชื่อผู้วาดลงบนภาพ 
              มโนทัศน์แบบใหม่นี้ก็คือ แนวคิดแบบ "ปัจเจกชน" ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และพัฒนาขยายตัวเรื่อยมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ แนวคิดนี้เชื่อมั่นใน "ความสามารถ" ของมนุษย์ ว่ามีมันสมองที่สามารถในการคิด สามารถผลิตหรือสร้างงานต่างๆ ให้สำเร็จได้ด้วยพลังของตนเอง ผิดไปจากก่อนหน้านั้นที่สังคมไทยโดยรวมตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ระบบมูลนายที่ต้องพึ่งพิงมูลนายเท่านั้นจึงจะมีชีวิตรอด ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังในช่วงก่อนหน้านี้ จึงมักไม่มีการระบุชื่อผู้วาดไว้บนภาพ แต่จะให้ความสำคัญกับผู้อุปถัมภ์การวาดมากกว่า
              สำหรับ “ปั๋น ช่างบ้านฮ่อ” ผู้นี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับ “บุญปั๋น พงศ์ประดิษฐ์” ผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงคดรอบพระธาตุดอยสุเทพ (ตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์เรื่องนี้) หากเป็นจริง ก็จะหมายความว่าช่างบ้านฮ่อผู้นี้ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังไว้หลายแห่ง นอกจากที่วัดบุพพารามและที่วัดพระธาตุดอนสุเทพแล้ว ก็ยังมีที่วัดอุปคุตและวัดสันป่าข่อยอีกด้วย ซึ่งแม้จิตรกรรมเหล่านี้จะไม่ใช่ผลงานชั้นครู แต่ก็ถือได้ว่ามีเสน่ห์เพราะมีอิสระในการแสดงออกอย่างน่ารัก น่าสนใจ
 

วิหารหลังใหญ่ วัดบุพพาราม

ภายในวิหารหลังใหญ่
 
ข้อความที่แทรกอยู่ในจิตรกรรมมีทั้งแบบที่เป็นการบรรยายเรื่องราวสั้นๆ กับแบบที่บอกชื่อบุคคลหรือสถานที่ ภาพนี้อธิบายว่าเป็นเมืองกบิลพัสดุ์  ตามด้วย สัทธาพ่อเถิ้มบ้านฮ่อ และ ปั่น ช่างบ้านฮ่อ (สำเนียงล้านนา ออกเสียงเป็น “ปั๋น”) ซึ่งน่าสังเกตว่าชื่อของช่างเขียนด้วยอักษรไทยภาคกลาง
ภาพนี้ก็มีชื่อของ “ศรัทธา” คือผู้อุปถัมภ์ในการวาดภาพ และช่างผู้วาดภาพเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าช่างจะเปลี่ยนไปเขียนคำว่า "ช่างบ้านฮ่อ" ด้วยตัวอักษรล้านนาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเขียนชื่อของตนเองด้วยอักษรไทยภาคกลางอยู่เช่นเดิม 
 
ภาพพุทธประวัติเล่าเรื่องหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเกศาแล้ว โปรดฯ ให้นายฉันนะและม้ากัณฐกะกลับเมืองไป ทั้งสองโศกเศร้าเสียใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้ากัณฐกะเสียใจจนตาย ในภาพหากดูเผินๆ อาจเข้าใจว่าเป็นภาพม้ากำลังเดิน แต่ความจริงแล้วช่างน่าจะวาดเป็นภาพม้านอนตาย ทั้งยังมีตัวอักษรล้านนากำกับไว้ด้วยว่า "ม้าตาย"
 
ภาพที่แปลกในชุดนี้ วาดอยู่เหนือประตูด้านหลัง เป็นภาพวัชรอาสน์ที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของโลก รายล้อมด้วยบ้านเมืองต่างๆ ภาพทำนองนี้มักวาดไว้ในส่วนท้ายของสมุดภาพไตรภูมิ โดยมักประกอบเป็นส่วนหนึ่งของพุทธประวัติ ในส่วนที่แสดงตำแหน่งสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา แต่ไม่ค่อยพบเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างที่นี่เลย   
 
ภาพเวสสันดรชาดก กัณฑ์จุลพน เป็นตอนที่ชูชกจะถามทางไปยังอาศรมของพระเวสสันดร แต่โดนฝูงสุนัขของพรานไล่กัด อักษรล้านนาในกรอบสี่เหลี่ยมด้านล่างเขียนว่า ชุละพน ๓๕ พระคถา
 






















































































 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้