เผาจริง เผาหลอก เริ่มมีในปลายรัชกาลที่ ๕

เผาจริง เผาหลอก เริ่มมีในปลายรัชกาลที่ ๕

เผาจริง เผาหลอก เริ่มมีในปลายรัชกาลที่ ๕
             ธรรมเนียมการฌาปนกิจศพ ซึ่งมีพิธีการ “เผาหลอก” ก่อน แล้วจึง“เผาจริง” อันเป็นธรรมเนียมที่นิยมกันในปัจจุบันนั้น ถือเป็นธรรมเนียมที่เริ่มมีตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
            นนทพร อยู่มั่งมี อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า เดิมการฌาปนกิจศพโดยเฉพาะการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย จะมีการ “เผาจริง” เพียงอย่างเดียว และจะทำกันในเวลาบ่ายถึงเย็น ส่วนธรรมเนียม “เผาหลอก” ก่อน  “เผาจริง” เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากเกรงว่าการเผาศพจะก่อให้เกิดกลิ่น ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้มาร่วมงาน จึงเกิดธรรมเนียมใหม่คือ ให้มีการปิดก้นโกศหรือหีบไว้ก่อน และระวังไม่ให้ไฟที่มีการพระราชทานไหม้ลามได้ ต่อเมื่อคนผู้คนที่มาร่วมงานได้กลับไปหมดแล้ว จึงจะ “เผาจริง” โดยจะเหลือเพียงเจ้าภาพ ญาติสนิทอยู่ร่วมพิธี “เผาจริง” เท่านั้น
             นนทพร อยู่มั่งมี ได้ยกพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเล่าถึงธรรเนียมใหม่นี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “...แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวงในตอนปลายๆ รัชกาลที่ ๕ เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพเดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ...ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้วจึ่งเปิดไฟและทำการเผาศพจริงๆ ...กรมนเรศร์เปนผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเปนผู้ตั้งศัพท์ “เผาพิธี” และ “เผาจริง” ขึ้น...การเผาศพจึ่งกลายเปนเผา ๒ ครั้ง....” 
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในเรื่อง “จากเผาจริง สู่เผาหลอกฯ” โดยนนทพร อยู่มั่งมี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๕

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้