หอนาฬิกาในพระบรมมหาราชวังที่หายไป อยู่ในจิตรกรรมวัดปทุมฯ

หอนาฬิกาในพระบรมมหาราชวังที่หายไป อยู่ในจิตรกรรมวัดปทุมฯ

หอนาฬิกาในพระบรมมหาราชวังที่หายไป
อยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง วัดปทุมวนาราม

       นักวิชาการอธิบายว่า จิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่ราวสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ เป็นต้นมา นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคนิคการวาดแล้ว ยังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเลือกเรื่องที่มาวาดด้วย นั่นคือ มีการเปลี่ยนมานิยมวาดเรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตทางโลก เช่น วาดภาพเล่าเรื่องวรรณกรรมที่ได้รับความนิยม วาดภาพบันทึกเหตุการณ์ หรือวาดภาพปริศนาธรรมเพื่อเน้นสื่อสาร-สั่งสอนทางศาสนาแก่ผู้ชม ต่างจากเรื่องแบบเดิมที่นิยมวาดก่อนหน้านี้ ซึ่งมักวาดเรื่องแนวจารีตประเพณีด้านพุทธศาสนา ทั้งเรื่องพุทธประวัติ หรือชาดก เพื่อเน้นสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พุทธสถาน
       นักวิชาการอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงด้านการเลือกเรื่องที่นำมาวาด อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำในยุคนั้น ที่เกิดสำนึกแบบใหม่ที่อิงกับโลกแห่งความเป็นจริง มีเหตุมีผล คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ,เรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ - พ.ศ. ๒๔๗๕)
       ตัวอย่างของงานจิตรกรรมฝาผนังแบบใหม่ดังที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ มีเช่น จิตรกรรมฝาผนัง วิหารวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างขึ้นในชุมชนลาวในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังคงวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เช่นเดียวกัน โดยภาพระหว่างช่องประตู-หน้าต่าง วาดนิทานพื้นบ้านเรื่องศรีธนญชัย ซึ่งเป็นนิทานยอดนิยมในหมู่คนไท-ลาว สอดรับกับพื้นที่ชุมชนลาวที่วัดตั้งอยู่ ส่วนผนังเหนือช่องประตู-หน้าต่าง คาดว่าเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งเสด็จมาวัดปทุมวนาราม เพื่อพระราชทานกฐิน
       กล่าวเฉพาะภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ วาดขึ้นคล้ายกับการบันทึกเหตุการณ์จริง โดยวาดภาพกระบวนเรือที่เหมือนจริง วาดเรือพระที่นั่งตามที่มีอยู่จริง รวมทั้งฉากบรรยากาศริมน้ำที่เหมือนจริง เช่น ฉากริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งกระบวนเรือล่องผ่าน ในภาพปรากฏกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านหลังมียอดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโผล่พ้นกำแพงขึ้นมา รวมทั้งยังมี “หอนาฬิกา” ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งเคยมีอยู่จริง ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง หน้าหอคองคอเดีย แต่ต่อมาภายหลังได้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ ๕
       ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรม ออกแบบสร้างหอนาฬิกาแห่งนี้ขึ้น แต่ไม่ได้ระบุปีที่สร้าง กล่าวแต่เพียงว่าเป็นหอสูง ๑๐ วา (ราว ๒๐ เมตร) มีนาฬิกาอยู่ทั้ง ๔ ด้าน
       สันนิษฐานว่าพระองค์อาจมีพระราชประสงค์เพื่อให้ชาวเรือที่แล่นเรือผ่านไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ใช้ประโยชน์สามารถเทียบเวลาได้สะดวก เพราะเป็นหอสูงที่มองเห็นได้แต่ไกล
       ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๑๒ เมื่อมีคณะทูตเดินทางมายังพระบรมมหาราชวัง ได้มีช่างภาพชาวต่างชาติชื่อว่า Wilhelm Burger บันทึกภาพหอนาฬิกาแห่งนี้ไว้ จากนั้นภาพนี้ได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือ Ein Welt-und Forschungsreisender mit der Kamera 1844-1920
           

จิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพระบรมมหาราชวัง ริมฝั่งเจ้าพระยา จะเห็นยอดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งอยู่หลังกำแพงวัง ส่วนด้านซ้ายมือ คือหอนาฬิกา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔
ภาพถ่ายเก่า สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังเห็นหอนาฬิกาตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ก่อนที่จะถูกรื้อลงในเวลาต่อมา
ภาพถ่ายเก่า เห็นหอนาฬิกา โดยมองจากหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คาดว่าถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ โดยWilhelm Burger

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้