“ลูกเต๋า” มีมาแล้วหลายพันปี
พบทั่วโลก และที่เมืองอู่ทอง ใช้เสี่ยงทายในพิธีกรรมและเล่นพนัน
ตามเมืองโบราณหลายๆ แห่งในโลกนี้ นักโบราณคดีได้ขุดพบ “ลูกเต๋าโบราณ” ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาไม่แตกต่างไปจากลูกเต๋าปัจจุบันมากนัก
ไม่มีใครรู้ว่าลูกเต๋าถูกผลิตขึ้นครั้งแรกที่ไหน แต่มีการขุดพบลูกเต๋าตามแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีอายุหลายพันปีแทบจะทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ กรีก โรมัน ตะวันออกกลาง แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย ฯลฯ รวมถึง “เมืองโบราณอู่ทอง” ในจังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ก็ยังพบลูกเต๋าหลายสิบลูก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
นักวิชาการสันนิษฐานว่าลูกเต๋าน่าจะถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องเสี่ยงทาย คือเป็นของใช้ในพิธีกรรมโบราณที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโชคชะตา หรือไม่ก็อาจใช้ร้องขอให้เทพเจ้าทำนายโชคลาง โดยต้องโยนลูกเต๋าให้ตกลงมา แล้วตีความจากจำนวนจุดที่อยู่ในแต่ละด้าน
ต่อมาบทบาทของลูกเต๋าได้คลี่คลายไปสู่เกมการพนัน ดังเห็นได้จากในบันทึกสมัยโรมันที่กล่าวถึงคดีความ ซึ่งเกิดจากการเล่นพนันที่มีลูกเต๋าเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ในมหาภารตะก็กล่าวถึงการเล่นสกา ซึ่งต้องมีการโยนลูกเต๋าเพื่อเดินหมาก และผลของการโยนลูกเต๋า ก็สามารถทำให้ผู้ที่แพ้เกมพนันต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
สำหรับลูกเต๋าที่พบในเมืองอู่ทอง มีทั้งที่ทำด้วยดินเผาและงาช้าง มีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า นักวิชาการอธิบายว่าลูกเต๋าเหล่านี้มีรูปแบบเดียวกับลูกเต๋าของอินเดีย ที่นิยมสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๑ และเชื่อว่าเป็นเครื่องใช้ในพิธี “ราชสูยะ” หรือพระราชพิธีราชาภิเษก
ลูกเต๋าอียิปต์ (ที่มา : kidipede.com) |
ลูกเต๋าพบที่เมืองฮารัปปัน บางชิ้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อายุกว่าสองพันปี (ที่มา: wikidot.com) |
ลูกเต๋าพบในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง |