พบเรือ 1,000 ปีที่สมุทรสาคร แล่นเชื่อม “โลก” กับ “ทวารวดี" ที่คูบัว – นครปฐม
หลังจากการขุดพบซากเรือโบราณ บริเวณนากุ้ง ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร ใกล้ชายฝั่งทะเลในปัจจุบัน ทำให้กรมศิลปากรได้ส่งนักโบราณคดีลงขุดค้นเรือโบราณลำนี้ ซึ่งจากการขุดค้นในเบื้องต้นได้พบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก และทำให้คาดในเบื้องต้นว่า เรือลำนี้มีอายุราว 1,000 ปี เป็นเรือขนาดใหญ่ที่อาจใช้ติดต่อค้าขายทางไกล ระหว่างจีน ทวารวดี อาหรับ จนในที่สุดได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงในบริเวณนี้ ซึ่งเดิมคงเป็นเส้นทางน้ำเก่า แต่ต่อมาได้ตื้นเขินไปแล้ว
จาก facebook ของ “เมดอินอุษาคเนย์” ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของ อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้วิเคราะห์เบื้องต้นถึงเรือโบราณลำนี้ไว้ สรุปได้ดังนี้
1. ตำแหน่งที่พบเรือปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 6 กม. แสดงว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลเดิมควรจะอยู่ลึกเข้าไปอีก
2. คุณเอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำบอกว่า เทคนิคการต่อเรือเป็นแบบไคโรหรืออาหรับ วิธีการต่อใช้การผูกเชือกยึดกง (โครงเรือ) กับกระดูกงูเข้าด้วยกัน ยังคงพบเชือกที่ใช้ในการผูกเรืออยู่ด้วย แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ตอนที่ชาวบ้านพบเรือได้นำกระดูกงูและเสากระโดง เรือขึ้นมา ทำให้เรือได้รับความเสียหาย
3. กระดูกงูมีความยาวมาก เกือบ 30 เมตร เป็นไม้ชิ้นเดียว กึ่งกลางเจาะช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 1 ช่อง ซึ่งเอาไว้ใส่เสากระโดงเรือ ซึ่งค้นพบ 1 เสา เป็นไม้ท่อนเดียว ยาวใกล้เคียงกับความยาวของกระดูกงู เสากระโดงเรือนี้สำหรับติดใบเรือ
4. ก่อนหน้านี้น่าจะ 10 กว่าปีก่อน เคยมีการขุดพบเรือโบราณสมัยทวารวดีเช่นกัน โดยพบที่บ้านขอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร แต่เทคนิคการต่อเรือมีความแตกต่างจากเรือลำนี้ แต่มีอายุใกล้เคียงกัน โดยกำหนดอายุจากเศษภาชนะดินเผา
5. โบราณวัตถุที่น่าตื่นเต้นคือ ภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า "Amphora" (แอมโฟร่า) รูปทรงคล้ายไหแต่ก้นแหลม ภาชนะแบบนี้นิยมใช้สำหรับการใส่ไวน์ เพราะก้นแหลมทำให้ตะกอนของไวน์นอนก้นไม่แกว่งไปมาเวลาขนส่ง
ภาชนะแบบแอมโฟร่า ทำกันมาตั้งแต่สมัยหินใหม่จนถึงยุคกลางจึงเลิกไป โดยรูปแบบมีความแตกต่างกันในแต่ละสมัย แต่จากการที่ได้วิเคราะห์ในเบื้องต้นคาดว่าเป็นแอมโฟร่าที่ผลิตขึ้นในยุคกลางของยุโรป (หลังสมัยโรมัน) และพบคล้ายๆ กับที่เมือง Kaj ในแคว้นคุชราต ประเทศอินเดีย
6. ภาชนะดินเผาอื่นที่พบอีกได้แก่
- ไห/ภาชนะดินเผาเคลือบสีเหลืองน้ำตาลอ่อนสมัยราชวงศ์ถัง นักโบราณคดีที่สำนักราชบุรีกำหนดอายุว่าประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 แต่อ.พิพัฒน์คาดว่าควรขยับขึ้นไปที่พุทธศตวรรษที่ 13 ไหแบบถังที่พบนี้คล้ายกับที่พบที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี
- เศษภาชนะดินเผาแบบทวารวดี โดยเฉพาะหม้อมีสัน
- มีการค้นพบไหเคลือบสีดำ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคือไหจากที่ไหนอีกด้วย
แสดงว่า เรือลำนี้เป็นเรือที่เดินทางครึ่งค่อนโลก เพราะพบภาชนะดินเผาหลายชนิด และ ในเรือคงมีคนที่พูดได้หลายๆ ภาษา
7. นอกจาก amphora แล้วยังพบของอีกหลายอย่าง ได้แก่ หมาก มะพร้าว เมล็ดพืชอีกหลายชชนิด แสดงว่าในเรือต้องมีเรื่องระบบการเก็บอาหาร ส่วนหมากก็น่าสนใจเพราะปกติจะกินกันในกลุ่มของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงว่าคนทวารวดีกินหมาก
8. มีการค้นพบเศษไม้และไม้ตัดเป็นท่อนที่ถูกพันห่อไว้อย่างดี สันนิษฐานว่าอาจเป็นไม้จันทร์ หรือไม้กฤษณา
สรุปสั้นๆ ได้ว่า
เรือที่พบสะท้อนว่า ทวารวดีเป็นรัฐที่เติบโตภายใต้การขยายตัวของการค้าโลกคือ เส้นทาง ยุโรป-อาหรับ-อินเดีย-จีน โดยมีการซื้อเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ถัง และสินค้าอื่นๆ และนำสินค้าบางอย่างไปขายให้กับทางยุโรปหรืออินเดีย อาจเป็นไม้เนื้อหอม
เรือลำนี้คงเดินทางเลาะชายฝั่ง และคงเดินทางเข้าไปตามคลองเพื่อไปยังเมืองทวารวดี แต่ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจึงล่มลง โดยเรือลำนี้คงเดินทางไปซื้อสินค้าจากเมืองที่สำคัญและใกล้ตรงนั้นที่สุดมี 2 เมืองไม่เมืองใดก็เมืองหนึ่งคือ คูบัว จังหวัดราชบุรี และนครปฐม
เรือลำนี้น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรืออย่างช้าคือพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะหลังจากนี้ราชวงศ์ถังจะสิ้นอำนาจลง
หรือคลิกดูข้อเขียนของสุจิตต์ วงษ์เทศ ถึงเรือโบราณลำนี้ได้ที่ link นี้ http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2013/12/suvarnabhumi-society-culture26122556/
นักโบราณคดีคาดว่าเรือโบราณที่ขุดพบนี้ น่าจะมีรูปลักษณ์แบบเรือที่เรียกว่า "Dhow" | เชือกที่ขุดพบในเรือ |