คติ “มหาบูชาสถาน” ในพม่า ปฏิกิริยาต่อต้านอังกฤษ?

คติ “มหาบูชาสถาน” ในพม่า ปฏิกิริยาต่อต้านอังกฤษ?

คติ “มหาบูชาสถาน” ในพม่า ปฏิกิริยาต่อต้านอังกฤษ?
            ในพม่ามีคติสำคัญประการหนึ่งคือ คติ “มหาบูชาสถาน” ซึ่งเป็นคติที่ยกย่องปูชนียวัตถุสถานจำนวน ๕ แห่งขึ้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรค่าแก่การบูชาสูงสุดของประเทศ หรือที่คนไทยบางกลุ่มในปัจจุบันเรียกว่า “๕ มหาบูชาสถาน” และเชื่อว่าหากได้เดินทางไปกราบไหว้ครบถ้วนทั้ง ๕ แห่งแล้ว จะนำมาซึ่งบุญกุศลและความโชคดี
            สถานที่เหล่านี้ประกอบด้วย
            1.พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑเล
            2.เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
            3.เจดีย์ชเวมอดอ (มุเตา) เมืองหงสาวดี
            4.เจดีย์ชเวซีคง เมืองพุกาม
            5.เจดีย์ชเวสันดอ เมืองแปร หรือบางครั้งจัดให้เจดีย์ไจก์ถิโย(พระธาตุอินทร์แขวน)เข้าแทนที่
            สุระ พิริยะสงวนพงศ์ นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า” ว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคติความเชื่อชุดนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้กำหนดขึ้น และมีวัตถุประสงค์ใด แต่จากการศึกษาในเบื้องต้น ทำให้คาดช่วงเวลาอย่างกว้างๆ ได้ว่าคติชุดนี้คงเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2328 – 2478
            อย่างไรก็ตาม สุระ พิริยะสงวนพงศ์ ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า จะเป็นได้หรือไม่ที่คติชุดนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากที่พม่าตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษแล้ว คือ ตั้งแต่พ.ศ. 2429 เป็นต้นมา ซึ่งในเวลานั้นอังกฤษได้เข้ามามีบทบาทเหนือพม่าทั้งด้านการเมืองและด้านศาสนา ส่งผลให้พุทธศาสนาในพม่าถูกลดทอนบทบาทลง จนส่งผลให้พระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านอังกฤษ รวมทั้งยังได้ส่งผลให้เกิดการก่อตั้ง “สมาคมชาวพุทธหนุ่ม” ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบชาตินิยมโดยใช้พุทธศาสนาเป็นจุดร่วม ถือเป็นการใช้ “ความเป็นพุทธ” ต่อต้าน “ความเป็นคริสต์” ของอังกฤษ
            ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ที่คติมหาบูชาสถาน จะเกิดขึ้นจากแรงผลักดันทางการเมืองเพื่อต่อต้านอังกฤษในช่วงเวลานี้ โดยเป็นเครื่องมือในการแสดงพลัง “ชาตินิยมแบบพุทธ” ของชาวพม่า พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างมโนทัศน์ให้เห็นถึงความสืบเนื่องของชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน และร้อยรัดความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวพม่าผ่านปูชนียวัตถุสถานเหล่านี้

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีก ใน หนังสือเรื่อง “พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า” เขียนโดย สุระ พิริยะสงวนพงศ์ ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้