บ้านบางระจัน ชุมนุม “ป้องกันตนเอง”
การก่อตัวขึ้นของ “บ้านบางระจัน” นั้น เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันตามธรรมชาติของ “ราษฎร” ในย่านลุ่มแม่น้ำน้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา เพื่อป้องกันตนเองจากกองทัพราชวงศ์พม่า หลังจากที่ไม่สามารถพึ่งพิงกรุงศรีอยุธยาได้อีกต่อไป เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาได้ใช้กลยุทธ์ตั้งรับข้าศึกที่พระนคร
ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อธิบายว่า บ้านบางระจันเป็นหนึ่งในหลายชุมนุมป้องกันตนเองที่เกิดขึ้นจำนวนมากในเวลานั้น ซึ่งถ้าหากบ้านบางระจันสามารถต้านทานกองทัพราชวงศ์พม่าได้จนผ่านพ้นไปได้และดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งสืบมา ในเวลาต่อมาบ้านบางระจันก็อาจกลายเป็นอีกชุมนุมหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีต้องเสด็จมาปราบปราม เพื่อสร้างเอกภาพให้แก่พระนครแห่งใหม่ต่อไป
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความสั้นของ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ที่เผยแพร่ใน facebook เมดอินอุษาคเนย์ ดังคัดมาไว้ที่ด้านล่างนี้แล้ว
เรื่องราวของวีรกรรมชาวบ้านบางระจันที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุง ศรีอยุธยาบางฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ถูกเรียบเรียงชำระขึ้นในสมัยหลังคือรัตนโกสินทร์ คือปรากฏการณ์รวมตัวของ “ราษฎร” ที่ถูกคุกคามจาก “พม่าข้าศึก” เพื่อต่อสู้ปกป้องตนเองและถูกนำมาอธิบายในภายหลังเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ ว่าด้วยความ “รักชาติ”
ข้อมูลในเอกสารพงศาวดารระบุว่ากลุ่มคนที่มารวมกันเป็นค่ายบางระจันนั้นมาจาก ย่านลุ่มน้ำน้อยและใกล้เคียง ดังเช่นกลุ่มของพันเรืองกำนันบ้านบางระจัน นายแท่น นายอิน นายเมือง จากบ้านสีบัวทอง นายดอก นายทองแก้ว จากวิเศษชัยชาญ กลุ่มของนายจันเขี้ยวจากโพทะเล ขุนสรรค์จากเมืองสรรคบุรี รวมไปถึงพระอาจารย์ธรรมโชติจากวัดเขาขึ้น เดิมบางนางบวช
ลุ่มแม่น้ำน้อยเป็นย่านเก่าแก่ซึ่งมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัย ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 มีชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินขนาดใหญ่น้อยมากมายกระจายตัวอยู่ เช่น เมืองดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เมืองโบราณบ้านคูเมือง ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี เมืองโบราณบ้านคู ต.พักทัน อ.บางระจัน
หลัง พ.ศ.1800 ลงมา ย่านแม่น้ำน้อยคงเริ่มมีผู้คนหนาแน่นขึ้น เห็นได้จากเมืองสรรคบุรีที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ แล้วราว พ.ศ.1900 ก็เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่าแหล่งเตาแม่ น้ำน้อย ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์จำพวกไหสี่หู ถ้วยชาม ครก เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม ท่อน้ำดินเผาต่อเนื่องลงมาจนสมัยอยุธยาตอนปลาย
ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารระบุตรงกันว่าเจ้านายบางพระองค์ เช่น กรมขุนพรพินิต หรือขุนหลวงหาวัด เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งกับพระราชวงศ์ภายในพระนครจึงเสด็จออกผนวชแล้วมาประทับ ที่พระตำหนักคำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ชี้ให้เห็นชัดว่าแม้ในสมัยดังกล่าวย่านแม่น้ำน้อยก็ยังมีลักษณะชุมชนหนาแน่น และเป็นฐานกำลัง-เครือญาติของราชวงศ์บ้านพลูหลวง
แม้เรื่องราวตามพงศาวดารซึ่งถูกเขียนในสมัยหลังจะถูกแต่งเติมรายละเอียดเข้า ไปมากจนดูคล้ายนิยาย แต่ก็มีเค้าของการรวมกลุ่มผู้คนที่เคยเป็นกำลังของอยุธยาในย่านลุ่มน้ำน้อย แต่ถูกทอดทิ้งให้รักษาตัวเองด้วยศึกมาติดพันรอบพระนคร ลักษณะของบางระจันจึงเป็นชุมนุมหนึ่งในหลายชุมนุมเมื่อใกล้เสียกรุง ศรีอยุธยา แต่ต่างกันตรงที่มีการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองจากการขูดรีดของกองทัพพม่า
คนกลุ่มนี้จึงใช้กำลังทั้งหมดที่มีต่อต้านอำนาจข้าศึก ซึ่งได้ผลเพราะได้ยึดเอาชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน (สมัยทวารวดี-เขมร) ที่มีอยู่ก่อนแล้วในลุ่มน้ำน้อยเป็นฐานป้องกันตัวเอง กลายเป็น “ค่ายบางระจัน” ที่รู้จักกันในปัจจุบัน
หากกลุ่มบางระจันถ่วงเวลาป้องกันตัวเองจากข้าศึกได้จนกระทั่งถึงเวลาที่เสีย กรุงศรีอยุธยา อาจกลายเป็นอีกชุมนุมหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินต้องเสด็จมาปราบปรามหลังจากทรงปราบดาภิเษกแล้วใน สมัยกรุงธน