ข้อสงสัย เจดีย์ศรีสุริโยทัย สร้างสมัย ร.6?
พงศาวดารเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระเจ้าลูกเธอ สิ้นพระชนม์จากการศึกกับหงสาวดีที่นอกพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดฯ ให้นำพระศพมาพระราชทานเพลิงที่บริเวณสวนหลวง ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงศรีอยุธยา และสร้างเจดิยสถานรวมทั้งวัดขึ้นที่บริเวณนั้น ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า วัดสบสวรรค์ หรือ วัดสวนหลวงสบสวรรค์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการก่อสร้างกรมทหารมณฑลกรุงเก่าขึ้นในบริเวณวัดสบสวรรค์ ในครั้งนั้นได้มีการปรับสภาพบริเวณวัดให้เป็นที่ราบเตียน และมีการเล่ากันว่าได้มีการไถ “เจดีย์คู่” คู่หนึ่งลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ นอกจากนี้ยังมีการเล่ากันอีกกระแสหนึ่งว่าในการปรับสภาพพื้นที่ในครั้งนั้น ได้ยังคงเหลือเจดีย์เพียงหนึ่งองค์ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการสมมติยกขึ้นให้เป็นเจดีย์ศรีสุริโยทัย แทนเจดีย์องค์เดิมที่ถูกไถทื้งไป ซึ่งเจดีย์องค์นี้ยังคงได้รับการเรียกขานว่าเจดีย์ศรีสุริโยทัยสืบมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาได้มีการเสนอกันว่า เจดีย์ที่ปัจจุบันเรียกว่าเจดีย์ศรีสุริโยทัย และเชื่อกันว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่ในสมัยอยุธยานั้น อาจเป็นเจดีย์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่เอง
ล่าสุด ผศ.เพ็ญพรรณ เจริญพร อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอถึงประเด็นนี้อีกครั้งไว้ในบทความเรื่อง “เรื่องเก่าที่ไม่ควรลืม : พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย” ในวารสารหน้าจั่วว่า เจดีย์ที่ปัจจุบันเรียกว่าเจดีย์ศรีสุริโยทัยนี้ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดย ผศ.เพ็ญพรรณ ได้ยกหลักฐาน 3 ประการคือ
1.จากคำบอกเล่าของนายเมี้ยน ยังประดิษฐ์ อดีตลูกจ้างกรมศิลปากร ซึ่งเคยเล่าให้ ผศ.เพ็ญพรรณฟัง เมื่อครั้งที่ ผศ.เพ็ญพรรณ ยังเป็นภัณฑารักษ์อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2515 ว่า เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ขณะนั้นเขายังเป็นเด็ก และพำนักอยู่ใกล้ๆ เจดีย์แห่งนี้ ได้อยู่ในเหตุการณ์และได้เห็นการก่อสร้างเจดีย์องค์นี้
2.จากคำบอกเล่าของ รศ.เสนอ นิลเดช ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทยว่า ท่านได้เคยพูดคุยกับนายภาวาส บุนนาค บุตรของมหาเสวกเอกพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ นายภาวาสเล่ายืนยันว่า บิดาของตนเป็นผู้บัญชาการก่อสร้างเจดีย์ศรีสุริโยทัยเอง
3.จากการค้นพบกรุบรรจุพระธาตุบริเวณเสาหารของเจดีย์เมื่อ พ.ศ.2533 พบโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งเป็น “กรัณฑ์ทองคำ” (ภาชนะมีฝาปิด) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในวารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 11 (กันยายน 2557 – ธันวาคม 2557) ผลิตโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร