ยอดเจดีย์ดอกบัวตูม สุโขทัย มาจากเจดีย์มอญ?
ที่ผ่านมาเคยมีนักวิชาการเสนอว่า ส่วนยอดของเจดีย์ทรง “ดอกบัวตูม” หรือที่เรียกอีกอย่าหนึ่งว่าทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์” ที่แพร่หลายอยู่ในรัฐสุโขทัย อาจมีที่มาจากส่วนองค์ระฆังของเจดีย์ทรงลังกา โดยปรับปรุงให้ส่วนล่างสอบเข้า จนกลายเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม
ล่าสุด วรารักษ์ ชะอุ่มงาม นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เสนอข้อคิดใหม่ว่า รูปทรงส่วนยอดของเจดีย์สุโขทัยที่คล้ายดอกบัวตูมนี้ อาจได้รับรูปแบบมาจากส่วนยอด(ปลี)ของเจดีย์แบบมอญ เช่น เจดีย์ชเวมอดอ หรือ เจดีย์ชเวดากอง ก็เป็นได้
วรารักษ์ อธิบายว่า การรับรูปแบบมาจากเจดีย์มอญนี้ อาจได้รับมาพร้อมกับการมาของ “พระสุมณเถระ” พระเถระรูปสำคัญ ที่ได้รับการอาราธนาจากเมืองมอญมาจำพรรษาอยู่ในสุโขทัยในช่วง พ.ศ.1904-1912 โดยพระสุมณเถระอาจเป็นผู้นำส่วนปลีของเจดีย์มอญ มาประยุกต์ออกแบบเป็นเจดีย์ทรงใหม่ โดยส่วนยอดสุดอาจเคยประดับฉัตรเช่นเดียวกับเจดีย์มอญด้วย
สำหรับ มูลเหตุหรือที่มาของการออกแบบให้เจดีย์มีรูปทรงดอกบัว ซึ่งมีรูปแบบพิเศษแปลกไปจากเจดีย์ที่เคยมีมานั้น ที่ผ่านมาเคยมีผู้เสนอไว้หลายแนวทาง เช่น อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องดอกบัวที่ผุดขึ้นบนโลก ซึ่งจะเป็นสิ่งแรกที่อุบัติขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของกัปป์ใหม่ โดยจำนวนดอกบัวที่อุบัติขึ้นนี้จะเป็นนิมิตบอกถึงจำนวนของพระพุทธเจ้าในอนาคตที่จะมาบังเกิดขึ้น ซึ่งคตินี้สอดคล้องกับความเชื่อของพระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัยในเวลานั้น ที่เชื่อว่าพระองค์คือพระอนาคตพุทธเจ้า หรืออาจสร้างขึ้นตามคัมภีร์โบราณของลังกาที่ได้ระบุถึงสถูปว่ามีทั้งสิ้น 6 รูปทรงคือ ทรงฟองน้ำ ทรงกองข้าว ทรงหม้อน้ำ ทรงระฆัง ทรงอามาลกะ และทรงดอกบัว
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน บทความเรื่อง “ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมและประเด็นใหม่เกี่ยวกับเจดีย์ทรงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์” โดย วรารักษ์ ชะอุ่มงาม ในวารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สามารถคลิกอ่านบทความได้ที่ Link ด้านล่างนี้
http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/81_7.pdf