ขุดพบ “ไหสี่หู” เตาแม่น้ำน้อย ที่ “ญี่ปุ่น” ใช้บรรจุกำมะถัน
สมัยอยุธยามีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่และสำคัญอยู่แหล่งหนึ่งคือที่ บริเวณใกล้แม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “แหล่งเตาแม่น้ำน้อย” นักโบราณคดีอธิบายว่า ภาชนะดินเผาที่โดดเด่นจากแหล่งนี้คือ “ไห” ที่มีห่วงดินเผาปั้นติดอยู่ที่ไหล่ภาชนะจำนวน 4 ห่วง หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ไหสี่หู” ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในสมัยอยุธยา ที่ส่งออกไปจำหน่ายบริเวณทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะบริเวณแปซิฟิค ดังพบหลักฐานในแหล่งเรือจมกลางอ่าวไทย ซึ่งได้บรรทุก “ไหสี่หู” จำนวนมากเพื่อส่งออกไปจำหน่าย แต่กลับล่มลงเสียก่อน รวมทั้งยังพบอยู่ตามชุมชนโบราณในหมู่เกาะต่างๆ เช่น ที่เกาะชวา บรูไน เกาะซาบาห์ นอกจากนี้ยังพบไกลไปถึงที่ญี่ปุ่นด้วย โดย “ไหสี่หู” นี้ ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่แสดงถึงการเชื่อมโยงทางการค้าและวัฒนธรรม ระหว่างโลกภายนอกกับสยามได้อย่างชัดเจน
สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้น แหล่งสำคัญที่พบ “ไหสี่หู” คือ เมือง Sakai ซึ่งเดิมเป็นเมืองท่าโบราณร่วมสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของ Osaka ในปัจจุบัน โดยนักโบราณคดีได้ขุดพบ “ไหสี่หู” จำนวนหนึ่งที่เมืองแห่งนี้ ที่น่าสนใจคือ นักโบราณคดีพบว่าไหบางใบยังมีเศษกำมะถันหลงเหลืออยู่ภายใน จึงคาดว่าเดิมน่าจะเคยใช้บรรจุกำมะถัน และคงเคยมีจุกไม้ปิดปากไหไว้ ซึ่งนักโบราณคดีคาดว่ากำมะถันเหล่านี้คือวัตถุดิบสำหรับใช้ในการทำดินปืน และอาจแสดงให้เห็นว่าในอดีตเมือง Sakai อาจเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตปืนก็เป็นได้
นอกจากหลักฐานการใช้ “ไหสี่หู” บรรจุกำมะถันที่ญี่ปุ่นแล้ว จากหลักฐานที่พบในแหล่งเรือจมกลางอ่าวไทย นักโบราณคดียังพบว่า ไหสี่หูยังถูกใช้บรรจุอาหารที่ทำจากปลา โดยมีจุกไม้ปิดปากไหไว้อย่างมิดชิด ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นอาหารที่ใช้บริโภคเฉพาะในเรือ หรือใช้เป็นสินค้าส่งออก
ปัจจุบัน ไหสี่หู เตาแม่น้ำน้อย ที่พบจากเมือง Sakai จัดแสดงอยู่ใน Sakai city museum ทางใต้ของ Osaka
ไหสี่หู เตาแม่น้ำน้อย พบที่เมือง Sakai จัดแสดง ณ Sakai city museum (ภาพ: มิวเซียมเพรส) |