ภาพขรัวอินโข่ง วัดบวรฯ สมัยรัชกาลที่ 3 วาดเรื่อง “ทาส” แอฟริกาใต้ สื่อ “สิทธิมนุษยชน” ยุคแรกของโลก

ภาพขรัวอินโข่ง วัดบวรฯ สมัยรัชกาลที่ 3 วาดเรื่อง “ทาส” แอฟริกาใต้ สื่อ “สิทธิมนุษยชน” ยุคแรกของโลก

ภาพขรัวอินโข่ง วัดบวรฯ สมัยรัชกาลที่ 3 วาดเรื่อง “ทาส” แอฟริกาใต้
สื่อ “สิทธิมนุษยชน”
ยุคแรกของโลก

                ภายในอุโบสถวัดบวรนิเวศ มีจิตรกรรมฝาผนังปริศนาธรรม ซึ่งคาดว่าวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพตอน “บุรุษผู้ให้อภัย” เป็น ภาพบุรุษผู้หนึ่ง สวมชุดยาวคล้ายนักบวชในคริสต์ศาสนา ยืนอยู่หน้าอาคารหลังหนึ่ง และมีบุรุษอีกผู้หนึ่ง กำลังคุกเข่าคล้ายกำลังทำความเคารพต่อหน้านักบวชผู้นั้น โดยภายในอาคารยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมาก กำลังทยอยกันออกมาจากอาคาร
                ในหนังสือ “ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส อธิบายถึงภาพนี้ไว้ว่า น่าจะสื่อถึง เหตุการณ์การปลดปล่อยทาสในเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
                เวลานั้น ในอังกฤษเกิดกระแสความสนใจในเรื่อง “สิทธิ” ของทาสที่ถูกกดขี่อย่างรุนแรงในเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ จนนำมาสู่การรณรงค์ต่อต้านการค้าทาส ซึ่งมีสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอนเป็นผู้นำ
                ในครั้งนั้น John Philip มิชชันนารีจากสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน  ได้เดินทางไปเมืองเคปทาวน์  เพื่อเก็บข้อมูลการค้าทาส และได้นำทาสจำนวนหนึ่งเดินทางกลับมายังลอนดอน เพื่อให้การกับสภาอังกฤษ กระทั่งนำมาสู่การออกกฎหมายห้ามการค้าทาสในที่สุด ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ของขบวนการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของโลก
                ดังนั้นภาพบุรุษนักบวชในจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวข้างต้น  จึงน่าจะสื่อถึง John Philip มิชชันนารี ชาวอังกฤษ ผู้นำในการปลดปล่อยทาสเมืองเคปทาวน์ ส่วนกลุ่มคนที่แออัดอยู่ในอาคารก็คือ กลุ่มทาสที่ถูกกดขี่ และถูกจำกัดพื้นที่ ไม่มีอิสระนั่นเอง โดยมีชายผู้หนึ่งกำลังคุกเข่าแสดงความขอบคุณนักบวชท่านนี้ ที่ช่วยพวกเขาให้เป็นอิสรชนนั่นเอง
                จิตรกรรมฝาผนังภาพนี้ ถือเป็น ภาพที่สะท้อนถึงความรับรู้และสนใจเรื่อง “สิทธิของมนุษย์” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ตามแนวคิดแบบตะวันตกครั้งแรกๆ ของชนชั้นนำบางกลุ่มในสยาม โดยเฉพาะ  “พระวชิรญาณเถระ” (รัชกาลที่ 4)  องค์ผู้ออกแบบเนื้อหาภาพปริศนาธรรมเหล่านี้  ก่อนที่เรื่อง “สิทธิมนุษยชน” จะกลายมาเป็น “กระแสโลก” ที่ชาวโลกส่วนใหญ่ต่างพากันน้อมรับและยึดถือในศตวรรษต่อมา

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเด็นอื่นๆ อีกได้ใน หนังสือ “ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
 
 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้