พบ "รหัสลับ" พระนาม “รัชกาลที่ 4” ในจิตรกรรมขรัวอินโข่งวัดบวรนิเวศ-บรมนิวาส
ภายในโบสถ์วัดบวรนิเวศ และวัดบรมนิวาส มีจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทยคือ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือ “ขรัวอินโข่ง” วาดเรื่อง “ปริศนาธรรม” เป็น “ภาพฝรั่ง” ซึ่งวาดขึ้นตามรูปแบบตะวันตก คาดว่าภาพเหล่านี้วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ
ในหนังสือเรื่อง “จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์” อธิบายว่า ขณะที่พระองค์จำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศนั้น พระองค์น่าจะทรงเป็นผู้ออกแบบเนื้อหาจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมที่วาดอยู่บนผนังโบสถ์ของทั้งวัดทั้งสองแห่งนี้ โดยภาพทั้งหมดล้วนสื่อนัยที่มีความหมายอันซับซ้อน ซ่อนนัยที่ลึกซึ้ง และแฝงสัญลักษณ์ไว้เป็นจำนวนมาก
ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพบนผนังสกัดหน้า(ฝั่งตรงข้ามกับพระประธาน) วาดเรื่อง “พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นเทพยดาผู้มีฤทธิ์”(วัดบรมนิวาส) และเรื่อง “พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นภูเขาหิมพานต์” (วัดบวรนิเวศ) บริเวณเหนือภาพทั้งสองแห่งนี้เป็นภาพท้องฟ้าที่มีเทวดาเหาะแทรกอยู่ในหมู่เมฆ
หนังสือเรื่อง “ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” ได้เสนอการค้นพบใหม่ว่า ภาพเทวดาและหมู่เมฆที่อยู่บนท้องฟ้าดังกล่าวนี้ ได้ถูกออกแบบอย่างจงใจให้เป็นรูปอักษร “อริยกะ” 2 ตัวคือ “ท” และ “ญ” ขนาดใหญ่ลอยเด่นอยู่กลางภาพท้องฟ้า เสมือนเหล่าเทวดาและมวลเมฆกำลัง “แปรอักษร” อยู่
ตัวอักษร “ท” และ “ญ” คือพระนามย่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งย่อมาจาก “ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่”
ภาพดังกล่าวนี้น่าจะเป็นการสื่อนัยความหมายให้สอดคล้องกับพระนามของพระองค์ว่าทรงเป็น “เจ้าฟ้า” “ฟ้าใหญ่” ที่ทรงมีสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชย์ และยังสื่อถึงทรงเป็น “ผู้สว่าง” ที่นำพาแสงสว่างมาสู่เมืองมืด ตามเนื้อเรื่องของจิตรกรรมฝาผนังตอนนี้ รวมทั้งยังอาจเป็น “รหัสลับ” หรือ “ลายเซ็น” ที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ออกแบบเนื้อหาของภาพอันลึกซึ้ง น่าตื่นตาและทันสมัยเหล่านี้ก็เป็นได้
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ ได้ใน "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส