เปลี่ยนชื่อราชวงศ์ “เชียงราย” เป็น “อู่ทอง” ที่มา-ความหมายที่ซ่อนอยู่

เปลี่ยนชื่อราชวงศ์ “เชียงราย” เป็น “อู่ทอง” ที่มา-ความหมายที่ซ่อนอยู่

เปลี่ยนชื่อราชวงศ์ “เชียงราย” เป็น “อู่ทอง” ที่มา-ความหมายที่ซ่อนอยู่
                เป็นที่ทราบกันว่า กษัตริย์พระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นที่บริเวณหนองโสน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เกาะเมือง” ในปัจจุบันนั้น คือ พระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โดยนักวิชาการได้ขนานนามราชวงศ์ของพระองค์ว่า “ราชวงศ์อู่ทอง”
                กำพล จำปาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก” ว่า การตั้งชื่อราชวงศ์ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 หรือราวสมัยรัชกาลที่ 4-5 มานี่เอง ไม่ใช่เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่เก่าก่อน
                กำพล อธิบายเพิ่มเติมว่า  เดิมชื่อราชวงศ์อู่ทอง ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า “ราชวงศ์เชียงราย” มาก่อน เนื่องจากเชื่อตามตำนานจุลยุทธการวงศ์ที่ระบุว่า พระเจ้าอู่ทองทรงสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงราย อย่างไรก็ตาม ต่อมาภายหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอให้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์นี้เสียใหม่เป็น “ราชวงศ์อู่ทอง”
                กำพล ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ไว้ว่า อาจมีที่มาจากการต้องการให้ชื่อราชวงศ์สอดคล้องกับพระนามของพระเจ้าอู่ทอง รวมทั้งยังอาจเพื่อต้องการให้สอดคล้องกับชื่อเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี ซึ่งเชื่อกันในเวลานั้นว่าเป็นเมืองที่พระองค์เคยประทับอยู่ ก่อนที่จะเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเพื่อต้องการให้เชื่อมโยงกับ แว่นแคว้นโบราณในตำนานที่เชื่อว่าตั้งอยู่ในบริเวณนี้นั่นคือ “สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นแว่นแคว้นที่ความหมายเชิงบวกที่สื่อถึง “ดินแดนทอง” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้ขยายความหมายของคำว่า “อู่ทอง” จากเดิมที่มีความหมายว่า “เปลทองคำ” ตามเนื้อหาที่ปรากฏในตำนาน มาเป็น “ที่ที่มีทองคำ” เพื่อให้สอดรับกับชื่อ “สุวรรณภูมิ” แทน
                ที่สำคัญคือ ยังอาจเกี่ยวข้องกับการที่ชื่อราชวงศ์เชียงราย มีความเกี่ยวข้องกับ "ล้านนา" ดังนั้นการใช้ชื่อ “เชียงราย” จึงอาจเป็นการขัดฝืนกับแนวคิดการปฏิรูปควบรวมล้านนาให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับสยามตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งอาจเป็นการยอมรับความสำคัญและความเป็นอิสระของล้านนาในอดีต แตกต่างไปจากชื่อ “อู่ทอง” ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ประดุจทองคำที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง อันเป็นศูนย์กลางของสยาม ซึ่งได้พัฒนาสืบมาเป็นอยุธยาและกรุงเทพตามลำดับ


อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ใน หนังสือเรื่อง "อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก" โดย กำพล จำปาพันธ์ ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้